กว่าจะมาเป็นแม่น้ำญวน ตอนที่ 3แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2012 เวลา 01:45 เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันอาทิตย์ที่ 03 ตุลาคม 2010 เวลา 09:54
คราวนี้มาย้อนดูว่า หากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำญวนเกิดขึ้นจริงๆหล่ะ จะเกิดผลกระทบต่อส่วนไหนบ้าง? แน่นอนหล่ะ ประการแรกคือ เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติคือป่าไม้ที่จะต้องถูกน้ำท่วม ว่ากันว่าน้ำจะท่วมไปถึงชุมชนบ้างน้ำญวนพัฒนา (บ้านปางปอบ) หมู่บ้านพี่น้องชาวเขาเผ่าเมี่ยนหรือเย้า จากการศึกษาข้อมูลมาพอสมควร ก็ทราบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทับซ้อน มีขนาดพื้นที่ 1,685 ไร่ เป็นป่าอนุรักษ์ 1,358 ไร่ ป่าทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง 342 ไร่ และอยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ประมาณ 22 ไร่ ซึ่งทั้งหมดมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ประมาณ 442 ไร่ แต่จะมีใครรู้เรื่องนี้หรือเปล่า หรือ อาจจะเป็นเรื่องที่ถูกปกปิดกันก็ได้ เนื่องด้วยผู้เขียนอยู่ในพื้นที่ และเคยอาศัยแหล่งน้ำญวนในการทำมาหากินเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ทั้งหาปู หาปลา เก็บหอย เก็บผักกูด เพื่อนำไปขายยังตลาดบ้านต้ง หรือ บ้านสบสา ดังนั้น พอที่จะมองออกว่า พื้นที่ดังกล่าว ก็ไม่ได้มีป่าไม้ที่เป็นป่าไม้ใหญ่เท่าไหร่ จริงอยู่ ป่าไม้และต้นไม้ จะเป็นป่า เป็นต้นไม้ได้แต่ละต้น ต้องใช้เวลาหลายปี อันนี้ผู้เขียนไม่เถียง เนื่องด้วย มีความรักและหวงแหนธรรมชาติไม่น้อยไปกว่านักอนุรักษ์ทั้งหลาย แต่ด้วยเหตุผลที่มนุษย์ต้องกินต้องอยู่และดำรงชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว สิ่งใดที่ให้ประโยชน์มากกว่าผลกระทบหรือผลเสีย ก็ควรที่จะหาทางศึกษาให้สมเหตุสมผลกัน ผู้เขียนขอออกนอกเรื่องสักเล็กน้อย อาจจะไม่เกี่ยวข้องแต่ว่า เรื่องนี้มันเกี่ยวเนื่องด้วยโครงการ การที่ผู้เขียน เขียนบทความนี้อาจจะเกิดอันตรายก็ได้ แต่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวบ้านที่รอคอยความหวัง ผู้เขียนก็ภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งการการเรียกร้อง ได้ร่วมผลักดันทางความคิดสักนิดหนึ่งก็ยังดี แม้ไม่มีส่วนในการตัดสินใจ แต่ก็พยายามจะให้ข้อคิดให้หลายๆมุมมอง เท่าที่รู้และปัญญาอันน้อยนิด เรื่องมีอยู่ว่า ตลอดเส้นทางสายน้ำญวนที่ไหลจากขุนน้ำญวนลงมาสู่ที่กั้นน้ำฝายโป่งจี้นั้น เดิมที่ตามสองข้างทางน้ำไหล ก็จะเกิดเป็นสันเป็นดอน ทำให้ชาวบ้านได้พากันลงทุนลงแรง ไปขุดที่ดิน โดยใช้แรงงานตนเอง ทั้งใช้จอบใช้เสียม ใช้สัตว์เลี้ยง เช่น ควาย ในการไถนาเพื่อทำนากัน เพราะในสมัยก่อน การที่จะมีที่นา คนๆนั้นจะต้องมีความขยัน ยิ่งขยันเท่าไหร่ ก็จะมีพื้นที่ทำกินมากเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ดินดังกล่าว ถ้าให้ไล่กันลงมา ก็ตั้งแต่พื้นที่นาแถวบ้านปางถ้ำ ส่วนใหญ่ก็เป็นของพี่น้องชาวบ้านปางถ้ำ ถัดมาก็ที่ปางปอบ พื้นที่นาของ พ่ออินทร์ ฉลาดแหลม ที่นาของพ่ออุ้ยปั๋น มะโนศรี และของพ่อต๊ะ (คนบ้านเกษตรสมบูรณ์ ที่ไปบุกเบิกขุดที่นาบริเวณแถวนี้ (เพราะบ้านเกิดของท่านอยู่ที่บ้านปางถ้ำ) เท่าที่ผมรู้จักแล้วกันนะครับ จากนั้น ก็ไล่ลงมาถึงบ้านน้ำญวนพัฒนา (ปางปอบ) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของพี่น้องชาวเขาเผ่าเมี่ยนหรือเย้า ก็มีของชาวบ้านหนองร่มเย็นบ้าง ถัดนั้นมาก็บริเวณ บ้านห้วยปุ้ม ก็เป็นของบ้านสบสาและบ้านหนองร่มเย็น ถัดลงมาก็บริเวณปางสัก ซึ่งถือได้ว่า เป็นบริเวณที่นาที่กว้างใหญ่มาก มีเจ้าของที่นาหลายเจ้า ตั้งแต่เชิงดอยกิ่วนาค ไปจรดถึงวังซาง ก็มีของคนบ้านเกษตรอยู่สองสามเจ้า คือ ของพ่อหนานจู สมประเสริฐ พ่อเสริฐ แจ้งสว่าง เป็นต้น ถัดลงมาก็เป็นบริเวณห้วยเฮีย ลงมาหน่อยก็เป็นตื๊ด หรือพื้นที่ลุ่มน้ำของพ่ออุ้ยหลง ชิดสนิท ที่พ่ออุ้ยเป็นคนบ้านร่องค้อม ต.เจดีย์คำ แต่ได้มาเป็นเขยของบ้านเกษตร พ่ออุ้ยเป็นคนขยันมาก ขุดที่นาได้เป็นจำนวนมาก ถัดมาก็ถึงบริเวณที่ลุ่มน้ำของพ่ออุ้ยมูล ชาวบ้านโจ้โก้ ก็มีพื้นที่บริเวณนี้ ที่เล่าให้ฟัง ก็เนื่องด้วยเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แต่อนิจจา ! เมื่อปี พ.ศ. 2538 เกิดฝนตกหนักและน้ำไหลหลาก ได้พัดพาเอาซากหิน ดิน ทราย โคลน ซากต้นไม้ ลงมาทับถมบริเวณที่นาของชาวบ้าน จนมองไม่เห็นแนวทางร่องน้ำหลายสายได้อีกเลย ประกอบกับท้องนาเหล่านั้น ทุกวันนี้ก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำไปหมดแล้ว เนื่องด้วย ที่ดินที่นาเหล่านั้นได้ตกไปเป็นของนายทุนเสียจนหมดสิ้น จะด้วยสาเหตุใด ผู้เขียนไม่สามารถหยั่งรู้ถึง แต่ที่แน่ๆ น่าจะมาจะมีสาเหตุมาจาก หลังจากที่มีข้อเรียกร้อง และนำเสนอโครงการผ่านไปยังกรมชลประทานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และเรื่องก็ไปอยู่ยังรัฐสภาหลายยุคหลายสมัย จนเกิดมีวันหนึ่ง มีรัฐมนตรีหัวใสท่านหนึ่ง ที่ผมเรียกว่าว่า นายทุน นี่แหล่ะ ที่จริงชาวบ้านเขาก็เรียกว่านายทุนนะ เพราะน่าจะหมายถึงผู้มีอำนาจมีบารมีเงิน ที่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง นายทุนท่านนี้ เคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง เพราะไม่เกี่ยวกับผู้เขียน ถามชาวบ้านแถวตำบลร่มเย็นเองแล้วกันว่า เขาคงรู้ว่าหมายถึงใคร อดีตรัฐมนตรีท่านนี้ ท่านคงรู้เรื่องราวถึงความคืบหน้าของโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำญวนทุกอย่าง ก็เลยได้ติดต่อมายังชาวบ้านเหล่านั้นไล่กว้านซื้อที่ดิน และทำการปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้ ปัจจุบันต้นใหญ่เท่าคนโอบก็ยังมี โดยใช้ชื่อเป็นของชาวบ้านทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ผมอยากจะบอกนักสำรวจและนักอนุรักษ์ว่า ป่าไม้ที่คุณว่าจะต้องสูญเสียนั่นนะ ตั้งแต่ด้านหน้าฝายโป่งจี้ ไปจนกระทั่งถึงบ้านปางถ้ำ เป็นของนายทุนทั้งหมดแหล่ะ เพราะเขาได้กว้านซื้อไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเวนคืนที่ดิน เงินโครงการก็คงไปตกอยู่ที่นายทุนเกือบครึ่งแล้วแหล่ะ จริงอยู่มันเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่ถูกต้องทุกอย่าง แต่เพราะโครงการนี้แหล่ะ จะสร้างก็ไม่สร้างสักที มีแต่การพูดเกริ่น จนชาวบ้านไม่เป็นอันทำมาหากิน อย่างที่บอกในตอนต้นบทความนั่นแหล่ะ ชาวบ้านจะปลูกพืชยืนต้น เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ยางพารา ก็ไม่กล้าปลูก เพราะกลัวน้ำท่วม ยิ่งมีคนปล่อยข่าวว่า ถ้าสร้างเขื่อนแล้ว พื้นที่เหล่านี้อยู่ในป่าสงวน อยู่ในป่าอนุรักษ์ ไม่สามารถเวนคืนและขายได้ ทำให้ชาวบ้านทยอยขายไปเรื่อยๆ โดยการถูกทาบทามติดต่อซื้อจากชาวบ้านที่เป็นนายหน้าให้นายทุนอีกที เมื่อมีคนหนึ่งขายไปแล้ว อีกคนจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ ไม่มีเพื่อนร่วมชะตากรรม ก็เลยต้องจำใจขายไป อนิจจา ! ภาพเก่า หายไปหมดแล้ว ประการ ต่อมาต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน จากการสำรวจและศึกษาข้อมูลพบว่า จะต้องมีจำนวนหนึ่งหมู่บ้าน ประมาณ 33 ครัวเรือน ที่จะต้องถูกน้ำท่วม นั่นก็คือ หมู่บ้านน้ำญวนพัฒนา หรือ บ้านปางปอบ ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา ซึ่งเป็นหมู่บ้านพี่น้องชาวเขาเผ่าเมี่ยนหรือเย้า ซึ่งถ้าหากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำญวนเกิดขึ้นจริงๆ ทางผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ จะต้องหาวิธีการ เพื่อชดเชยสิ่งที่พี่น้องชาวเขา ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คือ 1. จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ในราคาที่สมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้น เพราะเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว ในการที่จะมีเอกสารครบ เนื่องด้วยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง 2. จัดหาสถานที่อยู่อาศัยที่ทำกินให้ใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องฟังความคิดเห็นของชาวบ้านด้วย ทางผู้เขียนมีแนวทางมานำเสนอในเรื่องการย้ายหมู่บ้าน ว่า ควรย้ายพวกเขาไปที่ไหนบ้าง ในกรณีที่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำกันจริงๆ หมู่บ้านแรกที่นำเสนอให้ย้ายไปอยู่ร่วมคือ บริเวณหมู่บ้านห้วยหอย ซึ่ง เดิมทีก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำกินของพี่น้องชาวเขา บ้านน้ำญวนพัฒนาอยู่แล้ว และก็ได้ย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง เนื่องด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น อีกทั้งผู้เขียนยังคิดว่า ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากเขื่อน โดยอาจทำเป็นรีสอร์ท เป็นโฮมสเตร์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่ง ใหม่ อันได้แก่ ถ้าผาแดง ถ้ำน้ำลอด ดอยผาขาม เป็นต้น หรือ อาจจะทำอาชีพบริการทำแพ ให้นักท่องเที่ยว หากเกิดมีอ่างเก็บน้ำจริงๆ และเหตุผลสุดท้าย คือ ไม่ต้องอพยพ ไปไกลเกินไป หมู่บ้านที่สองที่นะนำคือ บริเวณบ้านผาแดงล่าง ซึ่ง อยู่เลยบ้านปางถ้ำไปเล็กน้อย โดยสภาพหมู่บ้านแล้ว เป็นหมู่บ้านที่มีความสงบร่มรื่น มีแม่น้ำลำธารไหลผ่าน มีสถานที่ทำกิน ที่ยังพอมีเลือกทำได้ แต่ข้อเสียคือ อยู่ไกลเมืองไปหน่อย ประมาณ สิบห้ากิโลเมตร หมู่บ้านที่สามที่แนะนำคือ ย้ายไปรวมกับหมู่บ้านพี่น้องชาวเขา บ้านห้วยปุ้ม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ลงมาทางด้านหน้าเขื่อน เป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่ อีกทั้งยังเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ รอการไปเยือน ที่มีถ้ำน้ำดั้น ถ้ำพ่อ ถ้ำแม่ อีกทั้ง ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของนักรบชาวเขาในสมัย อดีต ประกอบกับในอนาคต อาจมีการเชื่อมต่อเส้นทางไปยังบ้านน้ำโต้ม ในเขตของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย หรือทางเลือกสุด ท้ายที่อยากแนะนำคือ ย้ายลงมาอยู่ทางด้านหน้าอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีหลายที่หลายแห่ง ที่พอจะมองเห็น ก็น่าจะแถวบริเวณบ้านปางวัว และ หรือ บริเวณดอยม่อนหินขาว ซึ่งยังพอมีพื้นที่ว่าง ที่พอจะติดต่อซื้อขาย เอาเป็นสถานที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำกินแห่งใหม่ได้อีกทั้งยังจะได้รับประโยชน์จากการได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ด้วย เมื่อเรารู้ปัญหาแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งแก้ปัญหา และหาแนวทางผลักดันโครงการให้ได้ ปัญหาแรกกับปัญหาที่สอง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับที่ดิน และ อุทยาน พวกเราอย่าลืมว่า อุทยาน ก็ได้รับการยอมรับและแต่งตั้งโดยมนุษย์ เพราะฉะนั้น มนุษย์ ก็มีสิทธิ์ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์แก่ผู้คนหมู่มาก แต่ปัญหาที่ยังไม่เกิดนั่นแหล่ะสำคัญ เช่น เรื่องสร้างความมั่นใจ ให้กับชาวบ้านพื้นที่ด้านล่างของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งก็คงมีหลายคนเกิดความหวาดระแวง และ เกิดความกลัว จนเกิดการสร้างกระแสต่อต้าน แต่งปั้น เรื่อง เช่น เรื่องเขื่อนแตก เขื่อนพังบ้าง ทำให้คนทำงานเกิดอาการท้อได้เช่นกัน ตามหลักวิทยาศาสตร์และ ด้วยหลักปฏิบัติปฏิบัติของนักวิศวกรผู้ออกแบบย่อมศึกษาหลายอย่างประกอบกัน ทั้งเรื่องผิวดิน น้ำหนัก เหล็ก โครงสร้าง อายุการใช้งาน และการวางระบบ เขาได้ศึกษามาพอสมควรแล้ว คราวนี้ปัญหาไม่ได้ตกอยู่ที่นักวิศวกรแล้ว ปัญหาอยู่ที่ผู้รับผิดชอบโครงการผู้รับเหมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะผ่านกี่ด่าน แต่ละด่านต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก็หวังไว้ว่า คงไม่กินหินกินทราย เสียจนงานไม่เดิน ไม่เสร็จตามกำหนด แค่นี้ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านได้ไม่น้อย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เรื่องการประชาสัมพันธ์ข่าวสาส์น ก็น่าจะมีอยู่เป็นนิจ ไม่ควรเงียบหายและปิดเป็นความลับ สำหรับผู้เขียนเองนั้น กับเรื่องโครงการอ่างเก็บน้ำญวน จะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้ตอนนี้ในระหว่างที่รอ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในเรื่องน้ำก่อน เพราะดูเหมือนว่า โครงการคงอีกต้องรออีกหลายปี แต่ปัญหาของฝายโป่งจี้ตอนนี้คือ มีสภาพที่ตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ดังที่พวกเราเห็นในภาพ จะดีบ้างก็ในช่วงฤดูผล ที่พอมีงบเจียดมาขุดลอกบ้าง แต่ก็เป็นงบที่น้อยเหลือเกิน กับความต้องการที่ใช้น้ำของชุมชน แบบว่ามันไม่พอ ผู้เขียนก็เลยมีความคิดเห็น ที่อยากให้ทบทวนการทำฝายให้สูงขึ้นอีกสัก 4-5 เมตร ไม่ต้องสูงถึงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำญวนที่จะมีความสูงของอ่างประมาณ 49 เมตร ณ ปัจจุบันหากทำฝายให้สูงขึ้นอีกหน่อยอย่างที่ได้กล่าวว่า สูงกว่าฝายเดิมอีกสักหน่อย คาดว่าน้ำก็คงจะเพียงพอกับผู้คนทั้งตำบลร่มเย็น และตำบลเจดีย์คำ แต่จะให้ทั่วทั้งอำเภอคงทำไม่ได้ อันนั้นก็ต้องรอลุ้นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แล้วกัน นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะว่าไป ก็น่าเห็นใจผู้นำชุมชน และ องค์กรชุมชน ที่ไม่มีปากมีเสียงเรียกร้องได้เท่าที่ควร บางทีก็นึกอดสู นึกน้อยใจแทนคนชนบทไม่ได้ งบประมาณที่สร้างสรรแบบนี้ แทบจะไม่มีใครสนใจ แต่กลับงบในเมืองหลวง งบเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ กลับมีให้เยอะหลายหมื่นล้าน แต่งบเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านแค่ประมาณพันล้านกว่าบาท เมื่อเทียบกับแล้ว เหมือนกับการซื้อขนมให้เด็ก มันน้อยมาก แต่ทำไมรัฐบาลไม่ค่อยใส่ใจเห็นใจเลย เอาหล่ะไม่อยากเขียนมากไปกว่านี้ เดี๋ยวจะกระทบไปหลายฝ่าย ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนก็แล้วกัน สำหรับบทความ เรื่องกว่าจะมาเป็นอ่างเก็บน้ำญวนนั้น ก็คงต้องขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ หากท่านมีข้อมูลดี ข้อมูลเชิงลึก ที่ต้องการนำเสนอผ่านเว็ปไซต์ของบ้านเกษตรสมบูรณ์ ขอให้ท่านส่งอีเมลล์ไปที่เว็ปมาสเตอร์ได้ทันทีนะครับ ผู้เขียนพร้อมเป็นตัวกลางนำเสนอทุกปัญหา ที่ songkran999@hotmail.com หรือ kaetsomboon999@hotmail.com นะครับ กับการเขียนบทความถามว่าได้อะไรไหม ก็คงตอบได้ว่า ให้เป็นเงินเป็นทองคงไม่ได้ แต่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกดีดี ความรู้เล็กๆน้อยๆ ผ่านไปถึงบุคคลหลายหลาก ทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ ผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ผู้เขียนยังระลึกถึงอยู่เสมอ แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง ทำให้ผู้เขียนต้องร่อนเร่พเนจร เพื่อตามหาฝันของตนเอง เพื่อหาเก็บเงินสักก้อน และพร้อมที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเองแน่นอน คงไม่มีที่ไหนมีความสุขเท่ากับบ้านเกิดของเราอีกแล้ว รอหน่อยนะครับ…สักวันผมจะกลับมา ชีวิตคือการเดินทาง.. |
|||
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |