กางเกง (ใน)ผ้าสบงแก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 06 พฤศจิกายน 2012 เวลา 21:49 เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันศุกร์ที่ 07 สิงหาคม 2009 เวลา 13:57 โดย..อ้ายหนานปั๊กกะตืน ……… การเปลี่ยนจากกางเกงที่คุ้นเคยมานุ่งสบง ห่มจีวร ไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่ายๆ และคล่องตัวนัก ผ้าแต่ละชิ้นควรจะอยู่ในที่ๆ ถูกต้อง อะไรบ้างหนอที่ประกอบออกมาเป็นการนุ่งห่มครองจีวรโดยเรียบร้อยของสามเณรได้
……… ก็เห็นจะมี ผ้านุ่งปิดท่อนล่าง ที่เรียกว่า ผ้าสบง สายรัดผ้าสบงคล้ายเข็มขัดแต่ทำจากผ้าถัก ที่เรียกว่า ประคตเอว หรือรัดประคต ผ้านุ่งห่มเฉวียงบ่าผืนบางๆ มีกระเป๋าข้าง และตรงหน้าอก จะมีซิปกระเป๋าหรือไม่ แล้วแต่กรณี อันนี้เรียกว่า ผ้าอังสะ ใช้นุ่งข้างในเวลาอยู่กับวัดไม่ไปไหน ………และอีกผืนค่อนข้าง ผืนใหญ่ หากเป็นผ้าหนาหน่อยนี่ หนักเอาการอยู่ ใช้ห่มคลุมก็ได้ พับห่มเฉวียงบ่าเป็นลักษณะห่มดอง ครองจีวรก็ได้ ………และอีกชิ้นเป็นผ้าสำหรับใช้รัดเวลาห่มจีวรในลักษณะห่มดอง เรียกว่า ผ้ารัดอก ……… การห่มดอง ครองจีวร ของสามเณรก็เห็นมีอยู่แต่เพียงนี้ หากจะให้สาธยายตามขั้นตอน ก็เริ่มจากนุ่งผ้าสบงก่อน โดยการคล้องผ้าขึ้นมาในลักษณะคล้ายนุ่งผ้าขาวม้านั่นแหละ จากนั้น จับปลายผ้าขึงไปข้างหน้าให้สุด แล้วจับจีบใหญ่พอประมาณ พับซ้าย พับขวา สลับกันไปมาจนมาสุดที่บั้นเอว ถือไว้อย่างนั้นก่อน ……..แล้ว จึงหยิบผ้าประคตเอวมาทาบด้านหน้าตรงจีบพับ ม้วนสายรัดพันไปรอบเอว วกกลับมาแล้วผูกให้แน่น จะผูกเงื่อนไหนก็ได้ ขอเพียงเอาให้อยู่อย่าให้หลวมอย่าให้หลุดเป็นพอ… ………ชิ้น ที่สอง ก็เป็นผ้าอังสะ ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใช้สวมศีรษะลงไปอย่างนั้น เพียงแต่ให้เฉวียงบ่าให้ถูกต้อง เพราะผ้าอังสะนี้จะต้องนุ่งเฉวียงเปิดบ่าขวา ………ชิ้นที่สาม ก็เป็นจีวร ถ้าเป็นลักษณะห่มดอง ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างแยกแยะชัดเจน ว่าสามเณรจะนิยมห่มในลักษณะนี้ พิธีการห่มจะยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากจะต้องพับผ้าในลักษณะจำเพาะ และต้องอาศัยคน 2 คนช่วยกันพับ แต่ถ้าชำนาญแล้ว คนเดียวก็สามารถพับได้ ………พับเสร็จจึงค่อย นำมาพาดที่บ่าซ้าย แล้วค่อยๆ ดึงปลายผ้าที่พับไว้อ้อมจากทางด้านหลังในลักษณะเฉวียงบ่ามาคล้องเข้าใต้ รักแร้ข้างขวาก่อน แล้วจึงนำไปสอดเข้าใต้ผ้าพับที่พาดไว้ตรงบ่าซ้าย สอดให้พออยู่ไม่หลุดลงมา ………ชิ้นสุดท้ายก็เป็นผ้ารัดอก ใช้ผ้าผืนนี้ทับจากข้างหลังแล้วดึงมาใต้รักแร้ด้านซ้ายและด้านขวา อ้อมมาผูกให้อยู่ระหว่างอก ลักษณะการผูกจะต้องมีเทคนิคนิดหนึ่ง เพื่อให้ปมออกมาดูเป็นระเบียบ ใช่ว่าจะผูกเรื่อยเปื่อยได้ อันที่จริงจะให้ง่าย คือ ผูกเงื่อนธรรมดานี่แหละ จากนั้น อยู่ที่วิธีจัดเก็บว่าจะออกมาเรียบร้อยดีเพียงใด ………เท่านี้ แหละ เท่านี้จริงๆ หากมองย้อนกลับไป โดยการถอดทีละชิ้นที่กล่าวมา เริ่มจากผ้ารัดอก ไปสุดที่ผ้าสบง ก็ล่อนจ้อน! กางเกงในหรือไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีให้นุ่งให้สวมใส่อยู่แล้ว และหากจะยึดเอาธรรมเนียมปฏิบัติแต่กาลนานมา การนุ่งห่มครองจีวรของสามเณรก็มีเพียงนี้ ………อันเรื่องของ กางเกงใน ที่เป็นปัญหาว่า นุ่ง หรือไม่นุ่ง นุ่งแล้ว ผิดวินัย ผิดศีลหรือไม่? ไม่แน่ชัดในประเด็นนี้ สืบค้นจากพระวินัยข้อใด ก็ไม่เห็นจะมีเอ่ยถึงว่า ห้ามพระภิกษุสามเณรนุ่งกางเกงใน มีแต่เป็นวัตรปฏิบัติกันมาแต่ช้านาน ก็ยึดถือปฏิบัติสืบๆ กันมา …….. นั่นอาจเป็นเพราะในอดีตอย่าว่าแต่พระภิกษุสามเณรเลย แม้แต่ฆราวาสเองก็ไม่เห็นจะนิยมนุ่งกางเกงในกันมาก่อน คือไม่เคยมีกางเกงในมาก่อน จวบจนชาติตะวันตกนำเอาวัฒนธรรมการนุ่งกางเกงในเข้ามานั่นแหละ จึงมีความนิยมในหมู่ฆราวาส จะเป็นด้วยรสนิยม หรือป้องกันโรคบางชนิดในทางการแพทย์ก็ให้เหตุผลกันไป ………แต่ ครั้นพระภิกษุสามเณรจะเปลี่ยนธรรมเนียมมาปฏิบัติตามก็คงดูกระไรอยู่ อีกทั้งกางเกงในก็เป็นกางเกงชนิดหนึ่ง จึงเลี่ยงเสียและเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นอันใด นุ่งห่มกันมาอย่างไรแต่เดิม ก็ยึดธรรมเนียมปฏิบัตินั้นให้เคร่งครัดเป็นพอ ………จึงไม่ รับประกันว่า พระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน นุ่งหรือไม่นุ่งกางเกงในอย่างไร อีกอย่างก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว แต่ไกลเกินกว่าจะไปข้องแวะ หรือสืบให้รู้แจ้งเห็นจริงในข้อนี้ ……… เห็นแต่มีเรื่องเล่าว่า เวลาสามเณรสักรูปนั่งยองๆ แล้วปล่อยให้สบงตกท้องช้างขึ้นมา ช้างน้อยข้างในก็แกว่งงวงกวัดไกวให้เห็นทีเดียว นึกภาพแล้วก็น่าขัน และอดหัวเราะไม่ได้ แต่ถ้าวันใดเหตุการณ์นี้เกิดกับหลวงตาขึ้นมาบ้าง วุ้ย…ไม่อยากจะคิด…
|
|||||
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |