โดย…กิฎากรส์ถึงเวลาสอนเด็กทำนา กรมการข้าว ปั้น “ชาวนามืออาชีพ”
ไม่ต้องสังเกตก็เห็นได้ชัด ว่าภาคเกษตรกรรมเมืองไทยในปัจจุบันมีแต่คนสูงวัย…!! ที่ทำๆ กันอยู่ก็มีแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นลุง…ป้าปู่ย่าตายาย น้อยรายนักที่จะมีรุ่นลูกรุ่นหลานวัยกระเตาะ หรือเป็นคนหนุ่มสาวมาช่วย สาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ใครๆ ก็คงทราบดี งานหนัก เงินน้อย ตรากตรำ ลำบาก แถมยังต้องตากแดดตัวดำ จนผิวเกรียม เพียงแค่นี้คนหนุ่มสาวก็นึกหวั่น เข้ากรุงไปขายแรงงานเสียยังดีกว่า โดยเฉพาะ “ชาวนา” ซึ่ง คุณวิทยา ฉายสุวรรณ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีอายุมากที่สุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ปี…ดูซิดู อยู่ในวัยใกล้เกษียณกันทั้งนั้น! คนแก่มักประสบการณ์สูง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ อีกไม่นานเกษตรกรอาวุโสของประเทศก็จะค่อยๆ หมดไป แล้วอนาคตภาคเกษตรกรรมของไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกจะ เป็นเช่นไร ?? “แรงงานในภาคการผลิตข้าวมีปริมาณที่น้อยมาก และกำลังจะเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไม่เพียงผลผลิตในพื้นที่ชุมชนที่ลดลงเท่านั้น หากแต่การขาดแคลนชาวนาไทยในหลายพื้นที่ของประเทศยังส่งผลถึงภาพรวมต่อการส่ง ออกที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตลอดจนวิถีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องอาศัยการพึ่งพาตนเองเพื่อ ความอยู่รอดในภาวการณ์แข่งขันของยุคเศรษฐกิจการค้าในปัจจุบัน” รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวต่อว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมอบหมายให้กรมการข้าวดำเนินการจัดทำแผนเพื่อดึงแรงงานวัยทำงานในภาค อุตสาหกรรมหรือคนรุ่นใหม่เพื่อกลับเข้ามาพัฒนาผืนนาของประเทศ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่กรมการข้าวได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อลดปัญหาดังกล่าวก็คือ การปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และประสบการณ์ เพิ่มพูนทักษะความชำนาญในการทำนา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพเกษตร ดัง เช่น โครงการฝึกปฏิบัติการทำนาแผนใหม่ของกลุ่มยุวชนเกษตรกรในโรงเรียนวัดแหลมพระ ธาตุ ในตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตข้าว สร้างรายได้สู่จังหวัดถึง 7,500 ล้านบาท ต่อปี “ขณะนี้ลูกหลานชาวนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมาก จึงทำให้ขาดแคลนแรงงานและขาดแคลนเกษตรกรที่จะเข้ามาสืบทอด เราจึงควรต้องเริ่มที่จะสร้างลูกหลานเกษตรกรเป็นยุวเกษตร ตั้งแต่ช่วงที่เขายังเล็กๆ เพื่อให้มีความรักในอาชีพการทำนา ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจว่าข้าวหรือชาวนา คืออาหารและผู้สร้างอาหารของประเทศของโลก เรามีศักดิ์ศรี เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระราชเสาวนีย์ว่า ทำอย่างไรที่จะให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพราะพื้นที่นาร้างในประเทศยังมีอีกมาก ขาดแคลนเกษตรกรเข้าไปดูแล” คุณวิทยา กล่าว แผนการปฏิบัติงานตามโครงการ เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำนา ผ่านการฝึกสอนของคณะอาจารย์และผู้ปกครอง เริ่มตั้งแต่การสาธิตหว่านเพาะต้นกล้าข้าว เตรียมแปลงเพาะปลูก มีการทดสอบความรู้เรื่องข้าวก่อนและหลังการเรียนรู้ รวมถึงการสำรวจและวิเคราะห์ระบบนิเวศในแปลงนา กายวิภาคของต้นข้าวในระยะต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงวงจรชีวิตและห่วงโซ่อาหาร โดยดำเนินการแบบกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ทั้งยังสอดแทรกความรู้เรื่องบทบาทของศัตรูธรรมชาติ การควบคุม ป้องกันกำจัดศัตรูข้าวโดยผสมผสาน ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยวข้าว ใน ครั้งที่ร่วมดูเด็กๆ ฝึกปักดำต้นกล้าลงบนผืนนานั้น พบว่าพวกเขาล้วนเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่น้อยรายนักที่ชีวิตประจำวันจะได้ลุยโคลนกับครอบครัว ดังเช่น ด.ญ.ยุพารัตน์ หาญชาวนา วัย 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า ทางบ้านทำนาเป็นหลัก แต่เคยช่วยพ่อแม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ละวันจะเล่นกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน และได้รับการสั่งสอนจากผู้ปกครองให้ตั้งใจเรียนมากกว่า ตอนลงแปลงปัก ต้นกล้า เด็กๆ สามารถทำได้ดี เพราะรู้ว่าวิธีจับต้นกล้าและเทคนิคการปักดำที่สามารถทำได้ตามวัย แถมยังดูสนุกสนานไปกับการลุยโคลน แต่การปลูกฝังยุวชนเกษตรผ่านสถาน ศึกษานี้ เป็นเพียงปลูกพื้นฐานด้านความคิดและเสริมสร้างเทคนิคเบื้องต้นเท่านั้น แผนสำคัญของกรมการข้าวตามยุทธศาสตร์ยังมีเป้าหมายให้เกษตรกรชาวนามีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมุ่งสร้าง “ชาวนามืออาชีพ” สร้างชาวนาให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ (Smart Farmer) ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวมากกว่าเดิม 20% นำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยประสานการทำงานกับเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง ขณะนี้มีชาวนาชั้นนำที่ทำงานในโครงการประมาณ 300-400 คนแล้ว และจะเพิ่มเป็น 2,000-3,000 คน ภายในปี 2555 ตามแผนโครงการ โดยเน้นในเขตพื้นที่การผลิตข้าวเพื่อการส่งออก ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด และในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการผลิตข้าวขาวเพื่อการส่งออก 22 จังหวัด กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นแกนหลักในการถ่ายทอดเทคนิคสู่ชาวนารุ่นต่อไป และพัฒนาชาวนากลุ่มเดิมในชุมชนอย่างใกล้ชิด “การติวเข้มเรื่องของ วิชาการเทคนิคจะสร้างชาวนามืออาชีพที่มีคุณภาพ ที่ได้การรับรอง GAP ข้าว มีตัว Q ร่วมกับโรงสี ผู้ส่งออก สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตได้ ซึ่งจะทำให้ข้าวคุณภาพเหล่านี้เข้าสู่ตลาดระดับบน มีทั้งข้าวอินทรีย์ ข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะทำให้ช่วยยกระดับชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น” “ส่วนในภาพรวมไทยยังส่งออกได้ดีกว่าประเทศเวียดนาม ที่นั่นเน้นคุณภาพต่ำ การรักษาไว้ซึ่งผู้ผลิตข้าวอันดับ 1 ของโลก สิ่งที่เราต้องทำคือการเตรียมตัวที่ดีตั้งแต่การเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยอาศัยวิธีการกระจายข้าวพันธุ์ดีผ่านศูนย์ข้าวชุมชน และพัฒนาเกษตรกรชาวนามืออาชีพ จึงจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น เมื่อผลผลิตสูงขึ้นเราก็จะสามารถแบ่งเกรดตลาดข้าวได้เพิ่ม แต่เราอย่ามองแต่เรื่องการส่งออก ให้เน้นการแปรรูป ส่งเสริมในการหันมาบริโภคข้าว และหันมาสร้างผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวเจ้าของเรา ในญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปจากแป้งข้าวเจ้าของเรา เราอาจจะต้องเข้ามาให้ความใส่ใจกับจุดนี้ด้วย” คุณวิทยา กล่าวเสริม นอกจากนี้ คุณทรรศนะ ลาภรวย รองโฆษกกรมการข้าวยังเปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ของ กขช. ยังจะจัดให้มี “สวัสดิการชาวนา” ให้กับชาวนาที่มีอายุ 60-65 ปีขึ้นไป (อยู่ในระหว่างพิจารณา) โดยตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับชาวนาวัยหลังเกษียณเพื่อสร้างความมั่นคงใน อาชีพ พร้อมจัดตั้งกองทุนจัดหาปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ราคาถูกแก่เกษตรกรผ่านร้านค้าทั่วประเทศ หรือเป็นร้านค้าสวัสดิการสำหรับชาวนาทุกจังหวัด จำหน่ายเครื่องอุปโภค บริโภคและมีเงินปันผล ในลักษณะรูปแบบสหกรณ์ ตลอดจนการสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับสถาบันการเงิน และโครงการสนับสนุนทุนบุตรหลานชาวนาเพื่อสร้างทัศนคติต่ออาชีพชาวนาว่ามี เกียรติมีศักดิ์ศรี และมีแรงจูงใจรับช่วงประกอบอาชีพ รวมถึงการดูแลเรื่องวัฒนธรรมไทยพื้นบ้านและประเพณีด้านข้าวด้วย อย่าง ไรก็ตาม หากทุกวันนี้ทัศนคติของเกษตรกรคนทำนาเองยังมีความคิดว่า “ที่ทำนาเพราะไม่รู้จะไปทำอะไร” และบอกลูกหลานอยู่เสมอว่า “ให้เรียนสูงๆ จบมาจะได้ไม่ลำบากเหมือนพ่อแม่” เห็นทีการสร้างชาวนารุ่นใหม่ คงลำบากน่าดู!! |
|
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |