ตุ๊ลุงเพชรวัดบหนองร่มเย็นกับการกินอ้อ
  
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน 2012 เวลา 01:33 เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2011 เวลา 11:35
พระครูขันติวชิรธรรม” รองเจ้าคณะอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา หรือท่านอาจารย์ สมเพชร ขันติโก ศิษย์ ศพบ.
ประเพณีกินอ้อ “วันพญาวัน” “กุศโลบาย” ปลูกความงามในใจ ให้ “ลูกหลานไทยลื้อ” เชียงคำ
คอลัมน์ ชุมชนเข้มแข็ง
โดย สายอรุณ ปินะดวง
แม้บรรยากาศการเล่นสาดน้ำสงกรานต์หลายพื้นที่ จะดูขัดหูขัดตาหลายคน โดยเฉพาะการเล่นด้วยความรุนแรง ล่วงเกินทางเพศ ดื่มสุราจนนำมาซึ่งความอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาท สร้างรอยด่างให้กับประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน ด้วย แต่สำหรับชุมชนชาวไทยลื้อ ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา ยังมีประเพณีที่เรียบง่าย ดีงาม สืบทอดคติความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะประเพณี “กินอ้อ” ในวันที่ 15 เมษายน หรือ “วันพญาวัน” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีกินอ้อ มีความหมายตรงตัวว่า คือ การกินต้นอ้อ ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก ขึ้นอยู่ริมฝั่งน้ำ ลักษณะลำต้นเป็นปล้องเหมือนต้นไผ่ แต่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ลำต้นไม่ใหญ่นัก แต่ละปล้องมีความยาว 4-5 นิ้ว แต่ละต้นปล้องเล็ก ใหญ่ สั้น ยาวต่างกันไปตามความสมบูรณ์ของลำต้น “พระครูขันติวชิรธรรม” รองเจ้าคณะอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา บอกเล่าความเป็นมาและอานิสงส์ของการกินอ้อว่า บรรพบุรุษจะนำต้นอ้อมาตัดเป็นท่อนสั้น จากนั้นจะกรอกน้ำผึ้งเดือน 5 ลงไปเพื่อนำไปให้บุตรหลานกินในช่วงปีใหม่ โดยเชื่อว่าจะช่วยปลูกสำนึกให้บุตรหลานมีความอ่อนโยนต่อผู้อื่นเสมือนต้นอ้อ ที่แม้ลมแรงเพียงใดต้นอ้อจะลู่ไปตามกระแสลม ไม่หักโค่น อีกทั้งเฉลียวฉลาดหลักแหลมเหมือนใบอ้อ และจิตใจมีความบริสุทธิ์เหมือนน้ำผึ้งเดือนห้า “สัญลักษณ์ของต้นอ้อ คือ ความอ่อนโยน ฉลาดหลักแหลม และน้ำผึ้งเดือนห้าก็คือความบริสุทธิ์แห่งจิตใจผู้กินอ้อ บรรพบุรุษมีความเชื่อกันว่าครั้นถึงปีใหม่มาแล้วจะนำบุตรหลานเข้าร่วมพิธี กินอ้อทุกคน คนละ 3 ครั้ง ลูกหลานที่เข้าพิธีกรรมการกินอ้อแล้วจะเป็นคนว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กิริยาไม่แข็งกระด้าง รู้จักบุญคุณ กตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่และผู้มีอุปการคุณ โดยแต่ละปีจะใช้น้ำผึ้งเดือนห้าจำนวนมากบรรจุในปล้องอ้อ ผู้ที่อยู่ไกล เดินทางลำบาก หรือลูกหลานไม่สะดวกจะเดินทางมาที่วัดพระธาตุดอยคำ อ.เชียงคำ ก็จะฝากญาติหรือเพื่อนมาบูชาอ้อไปให้ลูกหลานกิน โดยชุดละ 20 บาท มี 3 ปล้อง””พระครูขันติวชิรธรรม” กล่าวว่า อยากให้ช่วยกันฟื้นฟูประเพณีกินอ้อ และสืบสานให้ยั่งยืน เพราะอาตมาเองก็สืบสานภูมิปัญญาการกินอ้อกับพระทุกวัดในตำบล โดยเฉพาะจัดพิธีกรรมทุกปีที่วัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงคำ โดยปล้องอ้อบรรจุน้ำผึ้งของวัดจะผ่านพิธีปลุกเสกเผื่อไว้ทุกปี เพราะมีคนสนใจเพิ่มมากขึ้น”ตาเทศ กองติ๊บ” ผู้เฒ่าวัย 72 ปี เป็นอีกคนที่สืบทอดประเพณีเก่าแก่ไว้อย่างเคร่งครัด โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองของคนล้านนา “ตาเทศ” จะรับหน้าที่ทำพิธีกินอ้อให้คนรุ่นลูกหลาน โดยสืบทอดคติความเชื่อสู่ลูกหลานว่าเมื่อได้กินอ้อแล้วจะทำให้สติปัญญาของ ลูกหลานแจ่มใส มีความจำเป็นเลิศ สามารถเล่าเรียนหรือทำงานประสบความสำเร็จตลอดทั้งปีใหม่ โดยทุกปีเมื่อถึง “วันพญาวัน” ซึ่งถือเป็นวันวิเศษของล้านนา “ตาเทศ” จะเตรียมขันตั้งพานเงินรุ่นลายคราม ทำด้วยไม้สีน้ำตาลแก่ ปูผ้าแดงและผ้าขาวรองข้าวสาร 1 จอก ข้าวเปลือก 1 จอก ดอกไม้ ฝ้าย ผลหมาก เทียนใหญ่ 2 เล่ม และเทียนเล็ก 16 เล่ม เงิน 32 บาท เพื่อประกอบการทำพิธีบอกกล่าวครูหรือปู่ย่าที่สืบทอดพิธีกรรมนี้ให้ จากนั้นนำไปเก็บบนหิ้งพระเพื่อให้ลูกหลานรู้ว่าเริ่มทำพิธีกรรมแล้ว หมายถึงการเชิญลูกหลานทั้งหมู่บ้านไปเยือนเพื่อเข้าร่วมพิธีขณะที่ “ยายนภาหรือยายหนู กองติ๊บ” ภรรยา วัย 71 ปี จะทำหน้าที่ผู้ช่วยคอยตัดต้นอ้อใส่กระสอบเตรียมไว้ใช้ประกอบพิธี เมื่อลูกหลานมาถึงบ้าน “ยายหนู” จะพูดคุยกับลูกหลานพร้อมรอยยิ้มที่อบอุ่นและเมตตา จากนั้นจะนำต้นอ้อให้ลูกหลานแต่ละคนไปเทียบกับข้อนิ้ว 2 นิ้ว คือ นิ้วชี้ และนิ้วกลางมือขวา แล้วใช้มีดตัดต้นอ้อให้มีความยาวเท่ากันทั้งสองนิ้ว โดยมีข้อรองไว้เหมือนก้นแก้วน้ำแล้วนำมามัดติดกัน พร้อมนำน้ำผึ้งเดือนห้าที่เตรียมไว้หยอดใส่ต้นอ้อทั้งสอง โดยข้อหนึ่งใส่น้ำผึ้งเกือบเต็ม อีกข้อหนึ่งใส่เพียงเล็กน้อย จากนั้นนำเทียนและดอกไม้พร้อมต้นอ้อคู่เงินคนละ 20 บาท เข้าไปหา “ตาเทศ” ที่มุมบ้านเพื่อทำพิธีจากนั้นตาเทศจะนำขันตั้งที่เตรียมไว้บนหิ้งพระลงมา พร้อมให้ลูกหลานนำต้นอ้อคู่บรรจุน้ำผึ้งเดือนห้า ดอกไม้ เทียน เงิน 20 บาท มาใส่ไว้ภายในภาชนะที่เรียกว่า “สลุง” โดยแต่ละคนแยกวางไว้คนละมุมไม่ให้ปะปนกัน แต่ละครั้งจะมีลูกหลานเข้าร่วมพิธีกลุ่มละ 3-5 คน และเมื่อเสร็จสิ้นการบริกรรมคาถา จะให้ลูกหลานนำต้นอ้อมากัดกิน เมื่อกินอ้อเสร็จแล้วนำซากต้นอ้อที่เหลือทิ้งไป จากนั้น “ตาเทศ” จะเป่าศีรษะพร้อมให้พร 3 ครั้ง แล้วคว่ำสลุงก็เป็นอันเสร็จพิธีปัจจุบันประเพณีกินอ้อเริ่มจางหายไป และกลายเป็นพิธีกรรมประหลาดในสายตาเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว แต่อานิสงส์ของการกินอ้อยังสะท้อนส่วนดีต่อชุมชนที่ลูกหลานได้มาเยี่ยมเยียน ปู่ย่าตายาย ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามสารทุกข์สุกดิบ และรับคำสอนที่ดีไปเป็นแนวทางการดำรงชีวิตด้วย”พระครูขันติวชิรธรรม” จึงอยากให้ฟื้นฟูประเพณีนี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็ง เพราะนี่คือกุศโลบายที่เชื่อว่าเป็นทั้งสิริมงคล และช่วยทำให้คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ได้มีความผูกพันกันแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย
จากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10998 |