ปอยลูกแก้วแบบล้านนาเขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันพุธที่ 02 กันยายน 2009 เวลา 15:51 ประเพณีปอยลูกแก้ว/ปอยน้อย เป็นงานเฉลิมฉลองในประเพณีพิธีการบรรพชาหรือบวชเณร ซึ่งจะทำกันในเดือน ๕,๖,๗,๘ เหนือ คือราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม จุดประสงค์ของการจัดปอยลูกแก้วหรือปอยบวช หรือปอยหน้อย ก็เพื่อ ลูกศิษย์วัดที่เรียกว่าขะโยมวัดที่คอยมาอยู่รับใช้ทำงานในวัดเป็นเวลาพอ สมควร และได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ทางวัดและญาติผู้ใหญ่ก็จะร่วมกันจัดงานพิธีบรรพชาให้เป็นสามเณรในพระพุทธ ศาสนา เมื่อกำหนดวันเป็นที่แน่นอนแล้ว พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าภาพในการบรรพชาสามเณรแต่ละรูป ก็จะจัดหาเครื่องอัฏฐบริขารสำหรับเณรบวชใหม่ให้พร้อมสรรพ ผ้าเครื่องบวชมี สะบงธรรมดา ๑ ผืน จีวร ๑ ผืน อังสะ ๑ ผืน บาตร กล่องเข็ม มีดโกน ผ้ากรองน้ำ ลูกประคำ ส่วนผ้ารัดเอว (รัดประคด) จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้เครื่องสักการะมี เทียนบวช(เมื่อก่อนใช้ ๖ แท่ง ปัจจุบันใช้๓ แท่ง) ดอกไม้ใส่ควัก(กระทง) หรือทำเป็นช่อใส่ลงไปในพานสำหรับขอบวช ๑ ขอสรณคมน์ และศีล ๑ ขออุปัชฌายะ ๑ ในรายที่พ่อแม่ไม่มีเงินพอก็จะออกบอกบุญเรี่ยไรไปตามญาติพี่น้องผู้มีฐานะดี ให้ช่วยบริจาคคนละชิ้นหรือสองชิ้นเมื่อ ได้ครบแล้วก็รวบรวมไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ทุกฝ่ายต้องมีการประสานงานกัน ผู้ที่มีบทบาทมากคือญาติของผู้จะบรรพชาและกรรมการวัด เจ้าภาพแต่ละคนก็มักจะพิมพ์บัตรเชิญเชิญไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามญาติของแต่ละครอบครัวให้มาร่วมทำบุญ ส่วนผู้ทีจะบวชต้องเตรียมตัวฝึก ท่องคำขอบวชให้จำได้ในระหว่างที่เป็นขะโยมวัดนั้นในสมัยก่อนนั้นจะต้องสามารถอ่านอักขระภาษาพื้นเมืองได้เพราะเมื่อบวชเรียน แล้วจะต้องอ่านตัวหนังสือในพระธรรมคัมภีร์ ต่าง ๆ ได้รวมทั้งท่องบทสวดมนตร์ทำวัตร ฝึกกิริยาท่าทาง การกราบไหว้ เมื่ออยู่ในสมณเพศแล้วจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก่อนจะถึงวันงานนั้นจะมี การแอ่วผ้าอุ้ม คือนำเอาเครื่องใช้ของสงฆ์ที่ซื้อมาแล้วนั้นใส่บนพานให้คนอุ้ม และมีคนกางสัปทน จัดขบวนซึ่งอาจมีตีฆ้องกลองแห่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียงเพื่อประกาศงานบุญ นั้น ๆ ด้วย เมื่อถึงวันงาน เจ้าภาพจะไปพร้อมกันที่วัดใกล้เคียง นำผู้ที่จะบรรพชามาแต่งตัวทรงเครื่อง สมมุติให้เหมือนอย่างเจ้าสิทธาตถ์หรือเจ้าชายสิทธัตถะยามจะออกบวช มีเครื่องทรงที่สวยงาม ลูบไล้ด้วยน้ำอบน้ำหอม ทาแป้งแต่งตัวเต็มที่ เรียกว่าลูกแก้ว ชายฉกรรจ์ที่แข็งแรงทำหน้าที่เป็นม้ากัณฐักหรือม้ากัณฐกะให้ลูกแก้วขี่คอ ลูกแก้วบางคนอาจขี่ม้าและบางคนใช้ช้างเป็นพาหนะก็ได้ ขบวนลูกแก้วจะแห่แหนไปรอบ ๆ หมู่บ้าน และขึ้นไปบนบ้านบุคคลที่มี อาวุโสเพื่อให้ผูกข้อมือให้พรเมื่อขบวนลูกแก้วกลับถึงวัดลูกแก้วก็จะเปลี่ยน เครื่องแต่งตัว เป็นนุ่งขาวห่มขาวเพื่อเข้าพิธีบวชโดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้บวชให้ ใน งานทำบุญปอยลูกแก้ว ปอยบวชหรือปอยหน้อยนี้ จะมีมหรสพเฉลิมฉลองเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน จะมีมากเพียงใดก็ย่อมแล้วแต่ฐานะของผู้ที่เป็นเจ้าภาพคือบรรดาพ่อแม่หรือ ญาติผู้ใหญ่ของลูกแก้วที่จะบวช มหรสพที่มักจะเป็นมหรสพยืนพื้น คือ ซอ คือการขับโต้ตอบของนักขับชายหญิงโดยมีปี่สี่คอยเป่าประกอบ หากเจ้าภาพจัดหาช่างซอที่มีชื่อเสียง จำนวนผู้คนที่มาร่วมทำบุญก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ส่วนเจ้าภาพจะต้องเตรียมอาหารมื้อกลางวันที่จะเลี้ยงบรรดาแขกเหรื่อที่มา ร่วมทำบุญด้วย สำหรับเด็กวัดหรือขะโยมบางคนที่พ่อแม่ยากจนทางวัดและศรัทธาที่มีฐานะดีใน หมู่บ้านก็จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพให้ พอบวชลูกแก้วนี้ ถือเป็นการทานอีกลักษณะหนึ่งที่ชาวล้านนา ถือว่ามีอานิสงส์มาก เพราะการได้ร่วมสร้างเนื้อนาบุญขึ้นในบวรพระพุทธศาสนาเป็นโอกาสการทานครั้ง ใหญ่ของบุคคลในชุมชน ซึ่งอาจร่วมเป็นเจ้าภาพซื้อปัจจัย อัฏฐบริขาร อาจร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ หรือเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน หรืออาจร่วมบริจาคทรัพย์ปัจจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามศรัทธา นับเป็นโอกาสการทำบุญให้ทานที่เอื้ออานิสงส์หลายรูปแบบ ตามกำลังศรัทธาผู้ของถวายทาน ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.lannaworld.com/ |
|
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |