ประวัติพระเจ้าแสนแซ่ วัดดอนไชย ม.8 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา พระเจ้าแสนแซ่ หรือพระพุทธรูปแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนาหรือสมัยเชียงแสน เนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร ฐานกว้าง 100 เซนติเมตร สูงจากฐาน 136 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดีความเป็นมาของพระเจ้าแสนแซ่วัดดอนไชย ม.8 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เดิมพระพุทธรูปแสนแซ่องค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุภูซาง ซึ่งในสมัยนั้นวัดพระธาตุภูซางชำรุดทรุดโทรมและมีต้นไม้และต้นหญ้านานาชนิดขึ้นอยู่เต็มไปหมด ชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญและขาดความเอาใจใส่จากชาวบ้านในละแวกนั้น องค์พระเจ้าแสนแซ่ประดิษฐานอยู่ในอาคารไม้เล็กๆมุงด้วยหญ้าคาหลังคารั่วทำให้องค์พระตากแดดตากฝนจนองค์พระขึ้นรามาหลายสิบปี ในช่วงปีพ.ศ.2477 พระครูศีลคันธสารดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเชียงคำโดยจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านไชยพรม ม.5 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ท่านมีความคิดเห็นว่าถ้าปล่อยให้พระเจ้าแสนแซ่ประดิษฐานอยู่ในสภาพอย่างนี้กลัวจะถูกโจรกรรมไปและพระพุทธรูปแสนแซ่อาจชำรุดทรุดโทรม พระครูศีลคันธสารจึงได้ให้ชาวบ้านช่วยกันอัญเชิญพระพุทธรูปแสนแซ่ขึ้นเกวียนและเดินทางจากวัดพระธาตุภูซางมาวัดบ้านไชยพรมระยะทางถึง 30 กว่ากิโลเมตร โดยระยะแรกได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านไชยพรม ต่อมาปีพ.ศ.2479 พระครูศรัทธาภิวัต เจ้าอาวาสวัดบ้านดอนไชย ม.8 ต.เวียง ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเชียงคำ ในขณะนั้นวิหารวัดบ้านดอนไชย ม.8 ยังไม่มีพระประธาน จึงได้ขออนุญาตพระครูศีลคันธสารเจ้าคณะอำเภอเชียงคำอัญเชิญพระเจ้าแสนแซ่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานวัดบ้านดอนไชย ม.8 ต่อมาปีพ.ศ.2481 พระครูศีลคันธสารมรณภาพพระครูศรัทธาภิวัตจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคำ พระเจ้าแสนแซ่จึงประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านดอนไชย ม.8 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระเจ้าแสนแซ่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 79 วันที่ 12 พฤษภาคม 2529
พระสุริยะ วรธมฺโม ( สุวรรณรัตน์ ) เจ้าอาวาสวัดบ้านดอนไชย ม.8 ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ผู้เรียบเรียง
ประวัติการสร้างพระพุทธรูปแสนแซ่
พระเจ้าแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปสมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน อายุประมาณ 1,000 ปี เนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ส่วนพระเจ้าแสนแซ่วัดดอนไชยนี้เป็นพระพุทธรูปแสนแซ่สิงห์สาม พระเจ้าแสนแซ่ประดิษฐานอยู่ที่อ.เชียงคำถึง 3 องค์ นอกจากประดิษฐานอยู่ที่วัดดอนไชยเวียงซึ่งเป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดแล้ว รองลงมาคือที่วัดนันตาราม ( วัดม่าน ) ต.หย่วน และองค์เล็กที่สุดอยู่ที่วัดดอนไชย ม.5 ต.หย่วน
พระเจ้าแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม เป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า มีอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ทำให้ชาวเมืองเลื่อมใสและถือเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของคนในชุมชนมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน พระพุทธรูปแสนแซ่ สร้างขึ้นด้วยช่างศิลป์ในสมัยเชียงแสน ทำเป็นชิ้นๆ และประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีสลัก หรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนพระกระชับแน่นมั่นคง พระเจ้าแสนแซ่ อาจแปลได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีการใช้สลักหรือตัวยึดส่วนต่างๆเข้าด้วยกันจำนวนมาก ซึ่งคงไม่ใช่สลักถึงแสนตัวเพียงแต่อุปมาว่ามากดังมีเป็นแสนเท่านั้น พระเจ้าแสนแซ่มีหลายขนาดตั้งแต่ใหญ่มากไปจนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งสร้างจากวัสดุต่างๆกันไป สามารถพบได้ตามวัดต่างๆในเขตภาคเหนือหรืออาณาจักรล้านนาเดิม ส่วนใหญ่พบครบสมบูรณ์ทั้งองค์ เช่น พระเจ้าแสนแซ่วัดศรีบุญเรือง เชียงใหม่ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ลำปาง แต่บางกรณีพบแต่เพียงบางส่วน เช่น เศียรพระเจ้าแสนแซ่ด้านหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน และเมื่อพิจารณาจากเศียรที่พบเพียงส่วนเดียวซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ก็สันนิษฐานได้ว่าหากพบชิ้นส่วนอื่นๆมาประกอบได้ครบองค์คงเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเศียรพระเจ้าแสนแซ่ที่พิพิธภัณฑฯ เชียงใหม่ สูงถึง 1.70 เมตร หากสมบูรณ์เต็มองค์ในลักษณะพระนั่งน่าจะสูงประมาณกว่า 6 เมตร และจากกรณีการพบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพียงส่วนเดียวดังได้กล่าวไป ได้นำไปสู่ข้อเสนอบางอย่างเกี่ยวกับจุดกำเนิด และพัฒนาการของพระเจ้าแสนแซ่ ดังนี้
อย่างที่ทราบกันว่าวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้ขยายตัวขึ้นมาถึงหริภุญไชย ซึ่งถือเป็นรัฐที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบวัฒนธรรมให้แก่อาณาจักรล้านนา และหนึ่งในศิลปะทวารวดีที่มีชื่อ เสียง คือพระพุทธรูปศิลา เช่น พระศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม พระศิลาเขียว วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือ ปมพระเกศาของพระศิลามีลักษณะเป็นตุ่มนูนเช่นเดียวกับเศียรพระเจ้าแสนแซ่ ดังนั้นพระเจ้าแสนแซ่ที่พบเพียงเศียรด้านหน้านั้นอาจเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสมัยหริภุญไชยที่รับวัฒนธรรมแบบทวารวดีก็เป็นได้ โดยมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งรับเอาลักษณะบางประการของพระพุทธรูปมาด้วย อย่างไรก็ดี วัสดุที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน คือ พระเจ้าแสนแซ่สร้างจากสำริด นอกจากนี้ยังสร้างให้ส่วนต่างๆประกอบกันแทนที่จะสร้างทีเดียวทั้งองค์ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยให้การหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ง่ายขึ้น รวมทั้งเคลื่อนย้ายได้ง่ายด้วย
เมื่อช่างหริภุญไชยได้คิดค้นการสร้างพระพุทธรูปแบบประกอบชิ้นส่วนต่างๆด้วยสลักหรือหมุดขึ้น อาณาจักรล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากหริภุญไชยก็ได้รับเอากลวิธีหล่อพระแบบแสนแซ่มาด้วย ทำให้มีการพบพระเจ้าแสนแซ่ในศิลปะแบบล้านนาที่มีขนาดเล็กลงมา จนกระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะแบบล้านนาที่มีการสร้างพระพุทธรูปแบบถอดแยกออกได้ และประกอบเข้าใหม่ได้โดยมีแซ่หรือสลักเป็นต้วยึด และบางองค์มีการบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ภายในด้วย เช่น ผอบพระสารีริกธาตุจนเกิดประเพณีประจำปีที่จะมีการถอดองค์พระเจ้าแสนแซ่เพื่อนำผอบพระบรมสารีริกธาตุออกให้ประชาชนสรงน้ำ
สรุปแล้ว พระเจ้าแสนแซ่คือพระพุทธรูปที่หล่อแบบแยกชิ้นส่วนโดยมีแซ่หรือตัวยึดที่เป็นสลัก กลอน หรือหมุด คอยทำให้ส่วนต่างๆประกอบเข้าด้วยกันได้ โดยจากการพบเศียรพระเจ้าแสนแซ่ขนาดใหญ่ ทำให้นำไปสู่ข้อเสนอที่ว่าพระเจ้าแสนแซ่แรกเริ่มเดิมทีคงสร้างขึ้นโดยช่างหริภุญไชย ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบหริภุญไชยที่มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระศิลาขาวและเขียว โดยสังเกตได้จากลักษณะปมพระเกศาที่มีลักษณะนูนเป็นตุ่มขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน โดยช่างหริภุญไชยได้คิดค้นวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้สะดวกขึ้นโดยการหล่อให้แยกชิ้นส่วนได้ ต่อมาเมื่อล้านนาได้รับอิทธิพลศิลปะจากแคว้นหริภุญไชย ก็ได้รับเอารูปแบบการหล่อพระแบบแสนแซ่มาด้วย จนเกิดพระเจ้าแสนแซ่ในศิลปะแบบล้านนาขึ้นทั่วไปในภาคเหนือปัจจุบัน
ผดุง ประวัง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเวียง เรียบเรียง
เพิ่มเติม
เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูง 24 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจกนิรภัย ด้านทิศตะวันตกของพระวิหาร เป็นพระประธานหอสวดมนต์ คำว่า แสนแซ่ หมายถึง พระพุทธรูปองค์นี้มีที่ล็อค (สลัก) หรือ ลั่นกลอนไว้นับจำนวน นับไม่ถ้วน กล่าวคือ สามารถถอดประกอบได้เกือบทุกชิ้นส่วน พบว่าปัจจุบันข้อพระกรซ้ายและพระโมลีถอดสลักออกได้ นอกนั้นไม่สามารถถอดประกอบได้ พระเจ้าแสนแซ่ นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนตลอดจนนักท่องเที่ยว มักจะกราบไหว้สักการะบูชา ขอพร และโชคลาภมาโดยตลอด ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้ว
|