ประเพณีดำหัวปีใหม่สงกรานต์ล้านนา การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาหมายถึงการสระผม แต่ในด้านพิธีกรรมโดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ล้านนาของทุกๆ ปี หมายถึงการชำระล้างสิ่งไม่ดี หรือสิ่งที่เป็นอัปมงคลในชีวิตให้มลายหายไป ด้วยการใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นเครื่องชำระล้าง นิยมจัดพิธีการดำหัวขึ้นในเทศกาลสงกรานต์โดยเริ่มตั้งแต่วันที่๑๕ เมษายน ซึ่งเริ่มนับเป็นวันพญาวันเรื่อยไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาได้ให้รายละเอียด เกี่ยวกับการดำหัวสมัยโบราณให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาดังนี้
“พิธีการ ดำหัวของชาวล้านนา นิยมนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่สลุงเพื่อใช้สำหรับการดำหัวผู้น้อยจะเข้าไปประเคน สลุงมอบให้แด่ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รับประเคนจะนำมือจุ่มลงในสลุงแล้วนำมาลูบศีรษะตนเอง ๓ ครั้ง หลังจากนั้นจะนำมือจุ่มลงในสลุงอีกครั้งเพื่อสลัดให้แก่ผู้น้อยที่มาดำหัว พร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีกินดีมีสุข
และ สาเหตุที่ชาว ล้านนาไม่นิยมการรดน้ำที่มือ เป็นเพราะชาวล้านนาเชื่อว่า การรดน้ำที่มือเป็นการรดน้ำศพมากกว่าการรดน้ำขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ เรื่องนี้ถือวิถีปฏิบัติที่สำคัญของชาวล้านนา และหลังจากที่ดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่เรียบร้อยแล้ว ผู้น้อยจะประเคนของกินของใช้ให้แด่ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วย เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู และตอบแทนคุณ”
ลักษณะและความหมายของการดำหัวมี ๒ แบบ คือ
๑. การดำหัวที่หมายถึงการสระผม ชาว ล้านนาโบราณจะนำใบหมี่ (พืชสมุนไพรโบราณ)และผลมะกรูดมาต้มในน้ำ และนำน้ำต้มนั้นมาสระผม จะสามารถขจัดรังแคและทำให้ผมมีกลิ่นหอม เมื่อดำหัวไล่สิ่งสกปรกออกไปหมดแล้ว จะเช็ดผมด้วยน้ำมันตานีหรือน้ำมันละหุ่งที่อบด้วยดอกสะบันงา (ดอกกระดังงา) หรือกระถิน (กระแจะจันหอม) ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชาวล้านนาโบราณ
๒. การดำหัวที่หมายถึงการตอบแทนคุณ ชาวล้านนาจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปคารวะแด่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีพระคุณ ซึ่งสามารถทำได้ ๒ แบบคือ ๑. ดำหัวผู้มีพระคุณทั่วไป ในสมัยโบราณกาลที่ยังไม่นิยมใช้ระบบเงินตรา การตอบแทนคุณด้วยข้าวของเครื่องใช้ตามแต่ จะหาได้ ถือเป็นเรื่องที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจึงไดัเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของ ชาวล้านนา เช่น การว่าจ้างหมอยามารักษาอาการป่วยไข้ในสมัยนั้น การตอบแทนในสมัยนั้นก็มิได้ตอบแทนด้วยระบบเงินตรา แต่เป็นการตอบแทนด้วยการดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย และมอบข้าวของเครื่องใช้ตามแต่จะหาได้ พร้อมกับคำขอบคุณเพื่อเป็นการแสดงความคารวะตอบแทนผู้มีพระคุณที่ช่วยรักษา ให้หายจากโรคภัย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ดำหัวพ่อเลี้ยงหมอยา” และ๒. ดำหัวบุพการี จะดำหัวในเทศกาลสำคัญๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ดอกไม้ รวมถึงของกินของใช้มามอบให้แด่บุพการี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีสำนึกในบุญคุณที่บุพการีได้เลี้ยงดูลูก หลานจนเติบใหญ่ สามารถทำมาหากินออกเหย้าออกเรือน ซึ่งการดำหัวบุพการีในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ก็จะทำให้ได้รู้จักวงศาคณาญาติ ของตนเองมากขึ้น รวมถึงได้ร่วมกันสืบสานรับการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้าง สั่งสมไว้มาก่อน เช่นทำดอกทำดวง ทำข้าวตอกดอกไม้ ทำธูปทำเทียนทำต้นผึ้ง เป็นต้นการดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ล้านนามี ๓ กรณี คือ
๑. การดำหัวตนเอง เป็นการทำพิธีเสกน้ำขมิ้นส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล เช่น “สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ” แล้วใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง ๓ ครั้ง
๒. การดำหัวผู้น้อย เช่นภรรยา บุตร หรือหลาน เป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากกรณีแรก คือใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะผู้น้อยหลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (ในกรณีที่สาม) มาลูบศีรษะตนเอง เสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะหรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง
และ๓. การดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
การดำหัวในกรณีที่สามนี้ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงความสันติสุขให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี การดำหัวผู้ใหญ่ด้วยตนเองอาจจะไม่มีพิธีรีตรองมากนัก แต่การดำหัวผู้ใหญ่ที่ต้องไปเป็นหมู่คณะ ย่อมมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น
การดำหัวผู้ใหญ่ที่ไปเป็นหมู่คณะ
เมื่อทุกคนไปรวมกลุ่มกันตามที่นัดหมายแล้วจึงเคลื่อนขบวนที่มีการแห่แหนด้วยฆ้อง กลอง เป็นที่ครึกครื้น บางแห่งมีการแสดงร่วมขบวนด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย ดนตรีประเภท สะล้อ ซึง ฯลฯ ระหว่างทางมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เครื่องที่นำไปดำหัวที่ถือได้ก็ช่วยกันถือไป เช่น สลุงน้ำขมิ้นส้มป่อย ต้นดอก ต้นเทียน พานข้าวตอกดอกไม้ เครื่องที่หนักก็จะใส่แคร่ที่ภาษาล้านนาเรียก “จองอ้อย” หามกันไป
เครื่องดำหัว
สิ่งของต่าง ๆ ที่เอาไปดำหัวนอกจากจะมีน้ำขมิ้นส้มป่อย พานข้าวตอกดอกไม้แล้วยังมีเครื่องอุปโภคบริโภคไปเป็นเครื่องสักการะ เครื่องอุปโภคที่นิยมกันส่วนใหญ่จะเป็นผ้า เช่น ผ้าขาวม้า เสื้อ ผ้าถุง ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ส่วนเครื่องบริโภคมักจะเป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ฟัก แฟง แตงโม กระเทียม หัวหอม มะเขือ สิ่งของประเภทผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะปราง มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น เครื่องดำหัวต่าง ๆ ดังกล่าวนิยมใส่รวมกันใน “ชองอ้อย” (อ่าน-จองอ้อย)
เครื่อง ดำหัวบางประเภทอาจมีประโยชน์ใช้สอยน้อย หรือบางประเภทอาจไม่ได้ใช้เลย เพราะหมดสมัยแต่ก็ยังนิยมนำไปดำหัวกันอยู่เพราะถือเป็นเครื่องสักการะที่มี มาแต่โบราณ เช่น
– ต้นดอก คือพุ่มดอกไม้ที่ประกอบด้วยดอกไม้นานาชนิด
– ต้นเทียน คือการนำเทียนมาประดับเป็นพุ่ม
– ต้นผึ้ง คือพุ่มขี้ผึ้ง
– หมากสุ่ม คือการนำหมากแห้งผ่าซีกมาประดับเป็นพุ่มอย่างสวยงาม
– หมากเบ็ง คือการนำหมากดิบเป็นลูกๆ มาประดับเป็นพุ่ม
พิธีกรรมในการดำหัว
เมื่อแห่เครื่องสักการะไปถึงแล้วทุกคนนั่งลงแสดงอาการนอบน้อมโดยสงบและเริ่มพิธีกรรมตาม ขั้นตอน ดังนี้
– ให้มีผู้ถือพานข้าวตอกดอกไม้ สลุงน้ำส้มป่อยและเครื่องสักการะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้า อย่างละ ๑ คน แล้วนั่งคุกเข่าเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ที่จะดำหัวท่าน
– หัวหน้าในกลุ่มประณมมือกล่าว คำขอขมา และคำขอพร (ตัวอย่างคำขอขมาและคำขอพร “ในโอกาสที่ปี๋เก๋าได้ล่วงพ้นไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้ก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าตังหลายก็มาร่ำเปิงเถิงยังอดีตป๋าเวณีอันดีงามมาแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังศรัทธา จึ่งพากั๋นน้อมนำมายัง ข้าวตอกดอกไม้ไทยวัตถุบริวารทานและน้ำส้มป่อย เพื่อจักมาขอสุมา คารวะหากได้ล่วงล้ำด้วยก๋าย วาจ๋า ใจ๋ ด้วยเจตนาหรือ บ่เจตนาก็ดี ขอท่านจุ่งมีเมตต๋าลดโทษ และขอท่านจุ่งโปรด ปั๋นศีลพรชัยหื้อเป๋นมังคละ แก่ผู้ข้าตังหลายแต่เต๊อะ”)
– ประเคนทานข้าวตอกดอกไม้ สลุงน้ำส้มป่อยและเครื่องสักการะ
– ผู้ใหญ่รับแล้วใช้มือจุ่มน้ำส้มป่อยลูบศีรษะอาจมีการสลัดน้ำส้มป่อยใส่ผู้ที่มาดำหัวด้วยความเมตตา
– ผู้ใหญ่ให้โอวาทและกล่าวขอบคุณ
– รับพรจบแล้วกล่าวคำว่า “สาธุ” พร้อมกัน
– ตามอัธยาศัย
ดัง นั้น การดำหัวจึงมีหลายนัยยะแห่งการกระทำที่ดีงาม และยังมีการดำหัวที่พิเศษนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ตอนต้นอีก คือการดำหัวกู่ หมายถึงการดำหัวกระดูกของบรรพบุรุษ การดำหัวตุ๊หลวง หมายถึงการดำหัวสมภารเจ้าอาวาส การดำหัวนายอำเภอ พ่อแคว่น พ่อกำนัน ก็คือการไปดำหัวผู้ที่มีอำนาจ ผู้ปกครอง ผู้ที่มีพระคุณแก่เรา การดำหัวจึงเป็นประเพณีที่ดีงาม เมื่อไปถึงพร้อมกันแล้วทักทายปราศรัยแล้วจะนำของเข้าประเคน คือเอาของมอบให้ ด้วยการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมารวมกันเข้าไปประเคนวัตถุสิ่งของประเคนแล้ว คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่นก็จะกล่าวว่านำลูกหลานเพื่อพากันมาขอขมาลาโทษ ผู้ถูกดำหัวก็จะให้พร ซึ่งโดยมากเป็นพรโวหารยาวที่ประทับใจ
พิธีการ ดำหัวจึงเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ที่บุตรหลานรวมทั้งคนรุ่นใหม่นำไปยึดถือ และปฏิบัติเพื่อเป็นการคารวะขอพรให้ตนเองประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในการ ดำเนินชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งมีบรรยากาศที่ชุ่มชื่นด้วยการรดน้ำซึ่งกันและกัน ผู้น้อยมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ให้อภัยแก่ผู้น้อย ก่อให้เกิดความร่วมมือในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคมต่อไป
|