เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันอังคารที่ 29 กันยายน 2009 เวลา 09:09
ครั้นคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในสมาคมโดยไม่สวมเสื้อผ้าดีแล้ว เย็นนั้นกลุ่มสาวๆ ก็แวะไปกินอาหารเย็นในห้องอาหารของรีสอร์ทในสภาพเปลือยเปล่าอย่างสบายอารมณ์ เมื่อเปิดประตูเข้าไป ทั้งสี่ก็ตะลึงเมื่อพบว่าแขกทั้งหมดที่กำลังกินอาหารในห้องนั้นสวมเสื้อผ้า เต็มยศกันทุกคน!
ถึงจะเป็นนิคมเปลือย แต่ไม่ใช่ทุกที่ทุกเวลาที่พวกเขาแก้ผ้ากัน!
2 เร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมเคยเป็นนักศึกษาออกกฎระเบียบห้ามนักศึกษาสวมชุด ‘ไม่เรียบร้อย’ โดยเฉพาะนักศึกษาหญิง ห้ามสวมมินิสเกิร์ต ชุดสายเดี่ยว และชุดล่อแหลมอื่นๆ (เอ้อ! คำว่า ‘แหลม’ อาจเปลี่ยนเป็น ‘ตะเข้’ ก็ได้!)
นี่ เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลก โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างเอียงไปในทางเสรีนิยมมาโดยตลอด และออกจะขัดแย้งแบบขันขื่นกับหลักการของการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นการ เรียนแบบผู้ใหญ่
แต่เมื่อพิจารณาสภาพการเรียนแบบไทยๆ ก็พอเข้าใจได้ เพราะแม้จะเรียนในระดับ ‘ผู้ใหญ่’ แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของเราก็ยังเรียนสอนแบบจับกรอกอย่างเด็กๆ ดูเหมือนว่าในสายตาของผู้ใหญ่ นักศึกษายังเป็น ‘เด็ก’ เสมอ และบางครั้งก็ต้องใช้ ‘ไม้เรียว’
ย่อมมีคนตั้งคำถามว่า การตั้งกฎระเบียบดังกล่าวผิดหลักของเสรีภาพของมนุษย์หรือไม่? ลิดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่? ที่สำคัญที่สุดคือมันช่วยพัฒนานักศึกษาให้เป็นคนที่มีคุณภาพดีขึ้นหรือไม่?
3 ในชั่วโมงแรกของวิชาการแต่งกายในหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพที่ผมเคยเข้าเรียนใน สถาบันบุคลิกภาพแห่งหนึ่งนานปีมาแล้ว อาจารย์ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างการแต่งตัวเรียบร้อยกับการแต่งตัวดี
การแต่งกายเรียบร้อยเป็นคนละเรื่องกับการแต่งกายดี
ถามว่ามันไม่เหมือนกันหรือ?
ตอบว่าไม่เหมือนกัน! การแต่งกายเรียบร้อยอาจไม่ใช่การแต่งกายดี แต่การแต่งกายดีใช่การแต่งกายเรียบร้อย!
การ แต่งกายเรียบร้อยคือการแต่งกายแบบปกปิดร่างกายโดยมีจุดหมายไม่ให้ประเจิด ประเจ้อ ไม่ผิดวัฒนธรรมประเพณี ไม่สวนทางกับศีลธรรม ความเป็นกุลสตรี และอีกสารพัด ‘ความเหมาะสม’
มาตรวัดของความเรียบร้อยคือค่านิยมของ สังคม กล่าวคืออะไรที่สังคมรับไม่ได้ก็แปลว่าไม่เรียบร้อย ยกตัวอย่างเช่น สวมชุดโชว์เนื้อหนังมังสาไปตักบาตรถือว่าไม่เรียบร้อย สวมชุดมินิสเกิร์ตไปโรงเรียนถือว่าไม่เรียบร้อย เป็นต้น
ความเรียบร้อยยังวัดได้จากสถานะอาชีพ เช่น นักศึกษาสาวสวมชุดโนบราถือว่าไม่เรียบร้อย ขณะที่นักร้องที่ทำอย่างเดียวกันถือว่ารับได้
ส่วนการแต่งกายดีคือการแต่งกายที่มีจุดหมายเพื่อให้ดูดี มีรสนิยมดี และให้เกียรติต่อสถานที่
รสนิยม ที่ดีวัดได้ด้วยคุณค่าทางศิลปะ เช่น แบบเสื้อผ้าเรียบง่ายไม่รุงรัง สัดส่วนเหมาะเจาะ สีของเสื้อและกางเกงหรือกระโปรงเข้ากันได้ คนอ้วนไม่สวมชุดสีสว่างเกินไป คนผอมไม่สวมชุดที่มีลายทางตั้ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ผู้แต่งกายดูดี มีเสน่ห์ น่าประทับใจ
การแต่ง กายดียังหมายถึงการให้เกียรติต่อสถานที่หรือคนที่คุณไปหา คุณไม่สวมชุดเปิดเผยแนบเนื้อไปฟังเทศน์ในวัดเพราะให้เกียรติพระและคนอื่นๆ ไม่สวมชุดสีสดใสไปงานศพ เป็นต้น
จะพบว่าการแต่งกายดีกินพื้นที่กว้าง กว่าการแต่งกายเรียบร้อย มันแสดงถึงรสนิยมของผู้แต่งกาย ผสานการแต่งกายเข้ากับมารยาท ความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนคนนั้นดูมีราคา
นี่ก็คือ “คนงามเพราะแต่ง”
4 เสรีภาพกับอิสรภาพเป็นสองวิถีทางสำคัญในการดำเนินชีวิต มนุษย์ควรมีอิสรภาพในการดำเนินชีวิตของเขาเอง ในการเลือกคู่ครอง ในการศึกษาสายที่ต้องการ ฯลฯ นี่คืออุดมคติของชีวิตที่เป็นจริงได้
ทว่า การใช้ชีวิตในสังคมก็มีราคาของมันอย่างหนึ่ง นั่นคือ เสรีภาพมีขอบเขตของมัน การใช้ชีวิตแบบสัตว์สังคมหมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย
ย่อมมีคนบอกว่า “ทำไมยุ่งนัก? ก็แค่การแต่งตัว ทำไมต้องมีกฎอะไรมากมายวุ่นวาย”
ความจริงคือ ‘กฎ’ กับ ‘มารยาท’ เป็นคนละเรื่องกัน
กฎมาจากภายนอก มารยาทมาจากภายใน
โลก เรามีกฎการเสพไวน์แดงกับเนื้อ, ไวน์ขาวกับปลา กฎแบบนี้เกิดมาจากความนิยมที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ แต่การเสพไวน์แดงกับปลาก็ไม่ทำให้ท้องเสียแต่อย่างไร
มารยาทคือสิ่งที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นเพราะเราเชื่อว่าเรามีคุณค่าพอที่จะให้และรับความรู้สึกดีดีได้
การ ไปลามาไหว้ การค้อมหัวเล็กน้อยขณะเดินผ่านผู้ใหญ่ การยิ้มให้คนแปลกหน้า ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้ทุกคนรู้สึกดี มันมาจากภายในตัวตนของเรา
จนเมื่อเราต้องเสแสร้ง เช่นไหว้คนที่ไม่อยากไหว้ มันจะพ้นสภาพจากมารยาทเป็นกฎและโซ่ตรวนไปในทันที
คน ไม่น้อยเห็นว่าการเป็นอิสระจากกรอบ การมีเสรีภาพที่จะเลือกคือการต้องแสดง-ป่าวประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าตนมีสิ่ง เหล่านี้ แต่ทว่าการคิดนอกกรอบก็ไม่ได้หมายถึงต้องนอกกรอบไปหมดทุกเรื่อง หรือนอกกรอบเพียงเพื่อให้ชาวโลกรู้ว่าตนนอกกรอบ เสรีภาพในการแต่งกายก็มิได้มาจากการแต่งกายแบบตามใจฉันเสมอไป เสรีภาพในการพูดก็ไม่ได้หมายถึงการเอาแต่พูดๆๆๆๆ
อิสรภาพที่แท้จริง ก็คือความสามารถที่จะยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่คิดแต่จะกบฏอยู่ทุกเรื่องทุกวัน เพราะการใช้ชีวิตในสังคมใดๆ ในโลกมีปัจจัยและตัวแปรมากกว่าตัวเราเอง
อิสรภาพคือการตามแฟชั่นเพื่อความสนุกได้ แต่ไม่ตกเป็นทาสของมัน ตามเพื่อนได้ แต่ไม่ตามจนเสียวิญญาณของตัวเอง
การ แต่งตัววาบหวิวไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากใช้อย่างมีรสนิยม ถูกจังหวะถูกที่ถูกเวลา แต่การแต่งตัววาบหวิวเพียงเพื่อสร้างความแตกต่างหรือสร้างจุดเด่นไม่ใช่ อิสรภาพ มันเป็นโซ่ตรวนอย่างหนึ่ง
5 คำสั่งห้ามนักศึกษาสวมชุด ‘ไม่เรียบร้อย’ ก็เช่นเดียวกับคำสั่งอื่นๆ อีกนับร้อยนับพัน : ห้ามตัดป่า ห้ามฝ่าไฟแดง ห้ามทิ้งขยะ ห้ามกินเหล้าวันพระ ห้ามขายสุราก่อนเที่ยงวัน ห้ามปล่อยควันเสีย ห้าม — ฯลฯ
นับวันข้อห้ามก็มีแต่เพิ่มและปัญหา ก็ไม่เคยหมดไป จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าคำว่า ‘ห้าม’ แปลว่า ‘จง’ และบางทีมันไม่แก้ปัญหาอะไรตราบที่เราไม่แก้ที่หัวของเราก่อน
ข้อห้ามอาจแก้ปัญหาแค่เปลือกนอกชั่วคราว แต่สำนึกที่ดีจะลบปัญหานั้นออกไปถาวร
มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนของผู้ใหญ่ ภารกิจของมหาวิทยาลัยมิใช่ยัดกรอกความรู้ แต่สอนวิธีเรียนและคิดเป็น ทั้งสองอย่างนี้ทำให้มหาวิทยาลัยต่างจากโรงเรียนกวดวิชา เพราะการเรียนมิได้สิ้นสุดในวันรับปริญญา และการคิดเป็นทำให้เด็กมีสมองและสำนึก
มีสมองคือรู้และเชื่อว่าคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่หัว ไม่ใช่เป้า-เต้า-ตะโพก-ขาอ่อน ไม่ใช่กระเป๋าถือแบรนด์เนม
มีสำนึกคือรักอิสรภาพ กล้าต่อสู้เพื่อรักษาเสรีภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีความรับผิดชอบ
ความ รับผิดชอบต่อตัวเองคือรู้จักเติมความรู้ ดูแลสุขภาพให้ดี ไม่เสพสารเสพติดจนร่างกายเสียหาย ความรับผิดชอบต่อครอบครัวคือดูแลลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ ความรับผิดชอบต่อสังคมคือช่วยทำให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้น และภูมิใจที่ได้อยู่ในสังคมนั้นๆ และอยากให้ลูกหลานของตนอยู่ในสังคมนั้นๆ
นี่คือเสรีภาพกับอิสรภาพที่เมื่อเราเข้าใจมันจริงๆ ข้อห้ามต่างๆ ก็ไม่จำเป็น
และนี่ก็คือความงามของการใช้ชีวิตที่ดี
วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
24 พฤษภาคม 2551
คมคำคนคม
No man should escape our universities without knowing how little he knows.
ไม่มีผู้ใดสมควรจากมหาวิทยาลัยของเราไปโดยไม่รู้ว่าเขารู้น้อยเพียงใด
J. Robert Oppenheimer
นักฟิสิกส์
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |