เส้นทางแห่งความสุขแก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 14:15 เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 02:45 เส้นทางแห่งความสุข
เพิ่งอ่าน “สุขนอกสูตร” ของ สุปรียา ห้องแซง จบ หลายบทในนั้นดึงภาพอดีตของผมในวัยเด็กกลับมาฉายอีกครั้ง ภาพท้องทุ่งนาในฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว หลายกิจกรรมในนั้น ผมพบว่าประสบการณ์ร่วมของผมกับผู้เขียนไม่ต่างกันเลย นั่นคือในวัยเด็กพื้นที่ชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับท้องทุ่งนามากกว่าที่ อื่น นั่นคงเป็นเหตุผลหลักที่อาจอธิบายได้ว่า ทำไมบางสิ่งข้างในของผมจึงร่ำเรียกให้กลับไปหาท้องทุ่งอยู่เสมอ น่าแปลกทั้งๆที่ในวัยเด็กท้องทุ่งนาเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย น่าหลีกหนี จำได้ว่าหนหนึ่ง ผมเคยพยายามแอบหลบจากท้องทุ่งกลับเข้ามายังหมู่บ้านเพื่อดูโทรทัศน์ คิดถึงแล้วอดอมยิ้มกับความคิดของตัวเองไม่ได้ หนนั้นความพยายามของผมถูกขัดขวางโดยพ่อที่วิ่งไล่กวาดมาต้อนเอาลูกชายจอมขี้ เกียจกลับไป แม้ในวัยเด็กชีวิตที่ย่ำอยู่กับท้องทุ่งนาจะจำเจน่า เบื่อหน่ายตามความคิดวัยเยาว์ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าซึมซับเข้ามาในจิตสำนึกของผมโดยไม่รู้ตัว ความรักในท้องไร่ ท้องนา กระทั่งอยากกลับไปใช้ชีวิตกับน้ำกับฟ้าในท้องทุ่งอีกครั้ง แต่ที่ผมต้องเผชิญคงไม่ต่างจากพี่สาวสุปรียา คำถาม แววตาสงสัย กระทั่ง แววตาตัดพ้อของผู้บังเกิดเกล้า นั่นคือเหตุผลหลักที่ต้องกังวลและดึงให้ผมต้องลังเล บางทีการศึกษาที่เราเชื่อกันว่าเป็นการยกสถานะภาพของเราให้สูงขึ้นก็เป็น เหมือนเชือกที่ผูกมัดเราไว้กับชนชั้นที่ถูกยกให้ห่างจากชนชั้นรากเหง้าจนยาก จะเดินกลับไป ๑. ด้วยเหตุผลหลักคือค่านิยมของสังคมที่กำหนดชั้นสถานะเอาไว้ เอาง่ายๆในกรณีของพี่สุปรียา เมื่อทางบ้านรับรู้เรื่องการเดินทางกลับมาสู่รากเหง้า สิ่งที่เกิดขึ้นแรกๆเลยคือการต่อต้าน ความไม่เข้าใจ เมื่อเห็นลูกสาวที่พากเพียรส่งเสียจนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแถวหน้าของ ประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงสิ่งที่ประกาศถึงความมีหน้ามีตาของผู้บังเกิดเกล้า และญาติพี่น้อง เพราะค่านิยมของผู้คนในสังคมที่เชื่อในวาทะกรรมที่ว่า การเรียนจบสูง หมายถึงการ “ได้” หรือ “ต้อง” ทำงานดีๆ ค่าตอบแทนสูง เป็นที่ยกย่องนับถือของใครต่อใคร ผมเคยเชื่อ เคยเดินตามในวาทะกรรมนั้น กระทั่งส่งผลให้ต้องมาเดินย่ำเหมือนเดินหลงทางอยู่ในตอนนี้ ยิ่งในปัจจุบันขณะ สภาพอาการที่เรียกว่า “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” คือสิ่งที่อธิบายลักษณะของผมได้ดีที่สุด ๒.นอกจากหนังสือจะเล่า เรื่องชีวิตช่วงของการพยายามเดินตามฝันของคนๆหนึ่งที่ต้องการเดินกลับมาซบอก และเรียนรู้ภูมิปัญญาแผ่นดินเกิด สิ่งที่หนังสือบอกเล่าอีกอย่างหนึ่งก็คือการต่อสู้กับหลายๆอย่างบางครั้ง ต้องพ่ายแพ้กลับมาโดยเฉพาะการหลีกหนีจากจังหวะชีวิตที่เหมือนถูกเร่งให้ไว ขึ้นในเมืองหลวงที่พี่สาววิ่งหนีครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ท้ายที่สุดของการ ต่อสู้ความพ่ายแพ้อยู่ข้างพี่สาวนั่นต้องทำให้ต้องเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ อีกหลายครั้ง เส้นทางที่เดินกลับบ้านในทางนามธรรมดูเหมือนจะง่าย หากแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในแง่ที่เป็นรูปธรรมที่หมายถึงการเดินกลับมาลง หลักปักฐานละทิ้งความมั่นคงอาชีพการงานทุกอย่างเพื่อหวนสู่วิถีชีวิตที่ หลายๆคนเชื่อว่าไร้หลักประกันความมั่นคงของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ในชีวิตจริงมักมีเงื่อนไขหลายๆอย่างที่คอยผูกมัดและผลักดันให้เราเดินห่าง จากเส้นทางแห่งความฝัน แน่นอนว่า หากเราทำความเข้าใจ ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตอยู่แล้ว ชีวิตที่ดูเผินๆเหมือนจะอยู่ในการควบคุมกำหนดของเราเองหากแต่มองลงในราย ละเอียดลึกๆของชีวิต หลายอย่างล้วนนอกเหนือการควบคุมของเราแทบทั้งสิ้น ๓.ใน บทท้ายๆของ “สุขนอกสูตร” ผู้เขียนเล่าถึงจังหวะชีวิตพร้อมกิจกรรมในท้องทุ่ง แน่นอนว่า กิจกรรมหลายๆอย่างที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หากแต่ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดความยากลำบากเหล่านั้นด้วยน้ำเสียงที่เจือด้วย ความสุข ไม่รู้สิ ผมรู้สึกสัมผัสได้ถึงความสุขที่เจืออยู่ในสิ่งที่บอกเล่า นั่นทำให้ผมตั้งคำถามกับคำว่า “ความสุข” กับ “ความยากลำบาก” จริงหรือที่ “ความสุขคือความสะดวกสบาย” คนที่มีความสะดวกสบายทุกอย่างไม่ต้องทุกข์ลำบากคือคนที่มีความสุขใช่หรือไม่ ส่วนคนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากคือคนไร้สุขเช่นนั้นหรือ บางทีตรรกะนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ชี้วัดได้อย่างชัดเจน ความสะดวกสบายอาจเป็นต้นธารแห่งความสุข ในทางตรงกันข้าม ความยากลำบากคือต้นเหตุแห่งความทุกข์ เรามักเข้าใจเช่นนั้น แต่ถ้า คิดกันให้ละเอียด ความสะดวกสบาย ความยากลำบาก ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสุขหรือความทุกข์ได้ทั้งหมด ตรรกะที่ว่า ความสุขสงวนไว้สำหรับเศรษฐี ทุกข์ทั้งมวลควรแก่ยาจก ดูจะเป็นสิ่งที่ตื้นเขินเกินไป สิ่งที่เป็นต้นธารของความสุข ทุกข์ ของเราๆท่านๆ ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ใจต่างหาก ใช่ครับ สิ่งนั้นคือบ่อเกิด ความสุขหรือทุกข์ทั้งหมด “สุขนอกสูตร” คือสิ่งที่การันตีสนุบสนุนคำกล่าวนี้ พี่สุปรียาเลือกหนทางที่เดินทางกับคนหมู่มาก บนหนทางที่ใครต่อใครตัดสินว่าโง่ ไม่มีความคิด แต่เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดให้เราได้รับรู้ในนี้ผมไม่เห็นความทุกข์ร้อนในหน ทางที่พี่สาวกำลังเดินอยู่เลย ๔.ชีวิตนี้สั้นนัก ผมเพิ่งตระหนักในถ้อยคำนี้ไม่นานนัก ไม่ถึงกับเข้าใจอย่างแจ่มกระจ่างมากนักหรอก แต่เห็นด้วยอย่างยิ่งในวาทะนี้ เราเป็นเพียงผู้มาเยือนชั่วเพียงเศษเสี้ยวเดียวของวันเวลาเท่านั้น สิ่งที่ควรเร่งทำนอกเหนือจากฝากความดีเอาไว้แล้ว การเดินและทำตามฝันคือสิ่งที่ผมเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยไปจากรายทาง ชีวิตทั้งชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิด ของความสุขที่แท้จริง แน่ นอนว่า ทุกคนมีความฝันและทางเดินต่างกันนั่นคือความงดงามของชีวิต เราเกิดมาด้วยเจตจำนงค์อิสระนั่นคือความยุติธรรมสูงสุดของชีวิต เราทุกคนเริ่มจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ เดินไปเถอะครับ หากหนทางที่กำลังเดินอยู่คือสิ่งที่เลือกดีและสอดประสานกับเสียงเรียกร้อง ภายใน ส่วนใครที่จำต้องเดินไปบนเส้นทางที่อ้างแย้งกับเสียงร่ำร้อง ภายใน ขอเอาใจช่วยและหวังว่าสักวัน เส้นทางที่กำลังเดินอยู่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ เพราะปรัชญาความสุขสูงสุดของชีวิตผมเชื่อว่า ต้องออกมาจากข้างใน เมื่อข้างในเบิกบาน ข้างนอกก็พลอยบานเบ่งไปด้วย ผมเชื่อเช่นนั้น ๕. ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา ผมไม่ได้ชักชวนให้ทุกคนเดินกลับสู่รากเหง้าหรือคืนสู่ท้องไร่ท้องนาทั้งหมด ความสุขทั้งมวลอยู่ที่หัวไร่ปลายนาเท่านั้น เปล่าเลย สิ่งที่ทุกคนเชื่อทุกคนเดินอยู่ล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องสลับซับซ้อน มีหลายเหลี่ยมมุมในนั้น บางอย่างเป็นเงื่อนไขข้อผูกมัดไม่ให้เราทำหรือเดินตามใจฝันได้ สิ่งที่ผมกำลังบอกเล่าก็คือ การเพียรพยายามต่อสู้ที่จะเลือกเดินตามบนเส้นทางความสุขของคนๆหนึ่ง ซึ่งในการต่อสู้นั้นใช่เพียงการต่อสู้ด้วยพลังกำลังทางร่างกาย หากแต่สิ่งที่เป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยเอาชนะอุปสรรคทั้งมวลคือหัวใจที่ไม่ยอม แพ้จนได้เดินบนหนทางแห่งความสุขของคนๆนั้น ไปตามเส้นทางของเรา ทางที่เราเลือก ทางที่เราเชื่อ ทางนั้นคือหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง ขอให้มีความสุขกับเส้นทางสายนั้นนะครับ ปล. สูขนอกสูตร เป็นหนังสือที่บอกเล่าการเดินตามฝันของหญิงสาวคนหนึ่งที่พื้นฐานชีวิตดำรง อยู่ด้วยเกษตรกรรมแต่จังหวะหนึ่งของเคยพาดผ่านในการศึกษา อาชีพการงาน ตามค่านิยมหลักของสังคม แต่เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง จึงเดินกลับมาสู่รากที่จากมา หนังสือเล่าเรื่องการเดินทาง การต่อสู้กับความคิดความเชื่อ ของคนรอบข้าง กระทั่งตนเอง และพาเราย้อนไปสู่วันวานของวิถีชีวิตผู้คนที่ดำรงตนภายใต้เกษตรกรรม ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.ifarm.in.th |
|
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |