“โรงเรียนชาวนา” ต้นแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชาวนาและสุขภาพ
การมีสุขภาพดี ใครๆ ก็ทำได้ แต่จะดีไหมหากเราจะช่วยกันส่งเสริมสุขภาพดีๆ ร่วมกันให้เป็นเครือข่ายสุขภาพ ผู้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ย่อมมีเทคนิคและวิธีการที่ทำให้ตัวเองมีความสุขทั้งกายและใจแตกต่างกันออกไป เทคนิคและวิธีการเหล่านี้เราเรียกว่า “ความรู้ฝังลึก” ซึ่งมักหาไม่ได้ในตำรา เพราะเป็นความรู้อันเกิดจากการเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นประสบการณ์ตรงเฉพาะของเจ้าของเทคนิคนั้นๆ หากเราเก็บความรู้ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวนี้ไว้กับตัว ก็คงไม่เกิดประโยชน์กับคนรอบข้าง แต่หากเรามีโอกาสนำความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับคนรอบข้าง คงดีไม่น้อย ดัง เช่น ชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์ ที่นอกจากจะต้องต่อสู้กับราคาข้าวตกต่ำ ต้นทุนสูง เพราะพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมีในการทำนาจนเป็นหนี้สินเต็มตัวแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้กับ “โรคร้าย” ที่รุมเร้าเพราะพิษสารเคมีอีก ด้วยปัญหาที่รุมเร้าชาวนานครสวรรค์เช่นนี้เอง เป็นที่มาของการรวมตัวกัน “ปฏิวัติ” รูปแบบการทำนา เพื่อ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในการลดต้นทุนและเพื่อสุขภาวะที่ดีภายใต้เครือข่าย “โรงเรียนชาวนา” ที่มีการออกแบบการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการ “การจัดการความรู้” เป็นอุบายให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ในการทำนา แบบไม่พึ่งพาสารเคมี และใช้สมุนไพรธรรมชาติทดแทน เมื่อชาวนารวมกลุ่มกันเรียนรู้จึงเกิด การปรับเปลี่ยนระบบคิดที่เป็นเหตุเป็น ผล ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวนโฆษณาง่ายๆ กระบวนการเรียนรู้เน้นการทดลองให้ประจักษ์ด้วยตัวเองว่า การทำนาชีวภาพดีกว่าการใช้สารเคมี ช่วยให้พี่น้องชาวนาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง หันกลับมาพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนวิถีคิดในตัวเอง หันมารวมกลุ่มกันเรียนรู้และเห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เกิดความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการทำนาแบบดั้งเดิม ถูกฟื้นคืนมาพึ่งพาธรรมชาติมาอีกครั้ง คุณสุเทพ แหยบพับ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลเกยชัย อำเภอชุมแสง กล่าวในฐานะประธานกลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านเกยชัยใต้ บอกว่า นักเรียนชาวนานครสวรรค์ ได้เรียนรู้การทำนาวิธีใหม่ๆ จากโรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเรารวมตัวกันเรียนรู้เรื่องการคัดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้า ได้เรียนรู้เรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนการทำนาลดลงกว่าครึ่งและสุขภาพกายและใจก็ดีขึ้น เพราะไม่ต้องซื้อสารเคมีมาใช้ คุณไพรัตน์ จงแก้ว รองประธานกลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านบางแก้ว เล่าว่า ตนรู้สึกภาคภูมิใจที่ชาวนาสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ยกระดับความรู้ของตนเอง จากการได้แลกเปลี่ยนความรู้กันทั้งในและนอกพื้นที่ ได้นำความรู้ดีๆ มาพัฒนาการทำนา พัฒนาชีวิตให้มีความสุขกาย สุขใจ มากขึ้น โรงเรียน ชาวนานครสวรรค์ เป็น 1 ใน 30 หน่วยงาน ที่ได้คัดเลือกให้เข้ามาเป็นต้นแบบ เครือข่ายการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการ “การจัดการความรู้” ที่จะมาเล่าประสบการณ์ในการปฏิวัติการทำนาเพื่อสุขภาวะที่ดี ในงาน “มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4″ ,”เปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้” ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2550 นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ โทร. (02) 298-0664-8 โดย…เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับวันที่ 15 ต.ค. 50 |
|
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็ปไซต์ www.kasetsomboon.org |
ข้อตกลงก่อนชมเว็ปไซต์ |
บทความบันทึกการเดินทางของเว็ปมาสเตอร์ นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา คลิ๊กอ่านได้เลยครับ มีทั้งหมดตอนนี้ 14 ตอน |