แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 07 พฤศจิกายน 2012 เวลา 19:44 เขียนโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา วันพุธที่ 02 กันยายน 2009 เวลา 14:51
![]() |
![]() ![]() |
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
:: หลักการและเหตุผล :: เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพลอากาศเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่แนวชายแดนประเทศไทย - ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวบริเวณดอยยอดห้วยน้ำลาว บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พิกัด PB 606524 ทรงพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ถูกบุกรุกแผ้วถางป่า เป็นพื้นที่กว้างขวาง บางส่วนของพื้นที่มีการปลูกพืชเสพติด ประกอบกับมีปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้แม่ทัพภาคที่ 3,ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา, ผู้อำนวยการสำนักงานทหารพัฒนาภาค 3, เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้, เจ้าหน้าที่กรมชลประทานร่วมประชุมปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาประกอบกับมี ราษฎรไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ได้เคยถวายฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องที่ทำกินเป็นจำนวน มาก จึงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรเหล่านั้นเข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณบ้าน เย้าหนองห้า เพื่ออนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร โดยจะดำเนินการขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้จัดทำเป็น “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะให้การสนับสนุนการฝึก – อบรมศิลปาชีพ และปลูกฝังความรู้เรื่องการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ราษฎรที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมกลมกลืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่า – ป่าให้ความร่มเย็นและเป็นแหล่งผลิตอาหารของคน :: วัตถุประสงค์
:: เป้าหมาย ::
:: ความเป็นมาในพื้นที่ :: เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนขาวเขาเผ่าเย้าบ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อยู่อาศัยและทำกินประมาณ 20 – 30 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกพืชเสพติด คือทำไร่ฝิ่น ทำการเกษตร โดยปลูกข้าว ปลูกพืชไร่พวกข้าวโพด และไม้ผลเมืองหนาว เช่น ท้อ บ๊วย สาลี่ เป็นต้น พื้นที่บริเวณนี้มีอากาศค่อนข้างเย็น และมีน้ำตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากชุมชนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบกับเส้นทางคมนาคมมีสภาพทุรกันดารมาก เป็นเส้นทางเดินเท้าระยะทางประมาณ 6 – 7 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดที่จะติดต่อกับในเมืองได้ เวลาเกิดความเจ็บป่วย ต้องแบกหามคนป่วยไป ใช้เวลาเดินทางมาก ทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตในระหว่างทาง จึงทำให้ชุมชนบ้านเย้าหนองห้านี้ ค่อยๆ ย้ายออกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 16 ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยย้ายออกมาคราวละ 3 – 4 ครัวเรือน จนพื้นที่บ้านเย้าหนองห้า ไม่มีชุมชนและชาวบ้านอาศัยและทำกิน กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า :: ขนาดและที่ตั้ง :: โครงการ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 25,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหม่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในท้องที่ ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตามแผนที่ทหารมาตราส่วน 1 : 50000 ระวาง 5147 IV (บ้านสองแคว) และระวาง 5148 III (บ้านส่วนกลาง) อยู่ระหว่างเส้นรุ้ง (latitude) ที่ 19º 27' 13" - 19º 30' 34"เหนือ และเส้นแวง (longitude) ที่ 100º 30' 50" - 100º 36' 8" ตะวันออก เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ประมาณ 200 ไร่ บริเวณพิกัดทางภูมิศาสตร์ UTM PB 606524 สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,300 เมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
:: สรุปการดำเนินงานที่ผ่านมา :: แรกเริ่ม เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และมีพระราชดำริให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” หลังจากนั้น ได้ตั้งคณะทำงานมาเพื่อรองรับการดำเนินการ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และเริ่มจัดตั้งหมู่บ้านโดยก่อสร้างบ้านพักราษฎร จำนวน 20 หลังคาเรือน ตามลักษณะความเป็นอยู่การตั้งถิ่นฐานวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาทั้ง 4 เผ่า พร้อมทั้งนำราษฎรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าพื้นที่ ประกอบด้วยชาวไทยภูเขา เผ่าเย้า เผ่าอาข่า เผ่ามูเซอ และเผ่ากะเหรี่ยง เนื่องจากบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านเย้าหนองห้า มีราษฎรชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่ถึง 4 เผ่า ดังนั้นคณะทำงานจึงมีมติเห็นควรให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากเดิม บ้านเย้าหนองห้า เปลี่ยนเป็นบ้านหนองห้า เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่ทั้ง 4 เผ่า และให้เกิดความสามัคคีปรองดองกัน ภายในหมู่บ้าน ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นครั้งที่ 2 :: ความเป็นอยู่ :: ปัจจุบัน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีจำนวนประชากร ทั้งสิ้น 78 คน เป็นเพศชาย 39 คน และเพศหญิง 39 คน โดยในจำนวนนี้เป็นประชากรที่เกิดเพิ่มขึ้นมาในหมู่บ้าน จำนวน 5 คน เป็นเพศชาย 2 คน และเพศหญิง 3 คน แยกเป็นเผ่ามูเซอ 3 คน เผ่ากะเหรี่ยง 1 คน และเผ่าเย้า 1 คน ความเป็นอยู่ในช่วงแรกชาวบ้านจะยังไม่คุ้นเคยกับสภาพที่อยู่ใหม่ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะคิดถึงบ้านที่จากมา ต้องใช้เวลานานกว่าเผ่าอื่น ๆ ถึงจะคุ้นเคยและรักสถานที่ใหม่ และเริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้านเผ่าอื่น ๆ จนปัจจุบันนี้ถ้าถามว่าอยากกลับบ้านเดิม หรือคิดถึงบ้านเดิมหรือไม่ ก็จะได้รับคำตอบอย่างภาคภูมิใจว่า “ ไม่อยากกลับแล้ว อยู่ที่นี่ดีกว่า และมีความสุขด้วย” เมื่อเข้ามาอยู่ครั้งแรก ชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ และกำลังผลิตทุกรูปแบบจากส่วนราชการ สำหรับเป็นต้นทุนสำหรับกิจกรรมทุกอย่างในการดำรงชีพ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง :: แหล่งอาหาร :: ระยะแรกก่อนที่จะได้ผลผลิตจากการปลูกข้าว ชาวบ้านสามารถยืมข้าวจากธนาคารข้าวพระราชทานสำหรับบริโภคทั้งปี ทุกครอบครัวจะได้รับการจัดสรรพื้นที่เพื่อปลูกข้าวไว้บริโภค ครอบครัวละประมาณ 4 ไร่ เป็นแปลงนาแบบขั้นบันไดและมีแปลงนาสาธิตอีกประมาณ 20 ไร่ สำหรับเป็นแปลงปลูกทดลองชนิดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยในปีแรกสถานีทดลองข้าวเชียงรายได้ทดลองปลูกพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ หลังจากทดลองได้ 1 ปี ก็สรุปได้ว่าข้าวไร่สายพันธุ์น้ำรู เป็นพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ ก่อนนี้ชาวบ้านที่อยู่ที่สูงจะคุ้นเคยกับการทำนาแบบดั้งเดิม โดยการทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ผลผลิตข้าวที่ได้จะต่ำกว่าการทำนาแบบขั้นบันไดกว่าครึ่ง ดังนั้นการทำนาในปีแรกจึงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์การทำนาแบบขั้นบันได ทำให้ต้องใช้เวลาในการเพิ่มทักษะ ซึ่งในปีแรกได้ทดลองปลูกข้าวหลายสายพันธุ์และได้ผลผลิตต่ำสาเหตุเกิดจากช่วง ข้าวออกรวงกระทบกับสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ความเข้มของแสงไม่เพียงพอต่อการผสมเกสร เมล็ดข้าวจึงลีบ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ได้ให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนปลูกข้าวพันธุ์น้ำรูทั้งหมด และเลื่อนห้วงเวลาในการปลูกให้เร็วขึ้น ทำให้ในปีนี้ได้ผลผลิตข้าวค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ได้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก กล่าวคือได้ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 1,000 ถัง เพียงพอสำหรับการบริโภคได้ประมาณ 6-7 เดือน โดยมีชาวบ้าน ชื่อนายยุทธนา แซ่ลิ่ว ราษฎรเผ่าเย้า ซึ่งมีทักษะและประสบการณ์ในการทำนา ทำให้ได้ผลผลิตข้าวเกินพอสำหรับบริโภคทั้งปี และสามารถคืนข้าวให้ธนาคารข้าวพระราชทานได้อีกจำนวน 40 ถัง นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการปลูกข้าวมา 2 ปี และคาดว่าระยะเวลาอันสั้น จะสามารถผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมากเพียงพอสำหรับการบริโภคทั้งปี และเหลือข้าวคืนธนาคารข้าวพระราชทานต่อไป :: พืชผักสวนครัว :: บริเวณรอบบ้านพักของชาวบ้านแต่ละครัวเรือน ได้ให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนใหญ่จะปลูกผักไว้สำหรับบริโภคและขายบางส่วน อีกทั้งยังมีพื้นที่บริเวณแปลงนาสาธิตไว้สำหรับปลูกผักเพื่อขายโดย เฉพาะ ผักที่ปลูก ได้แก่ ผักกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มันฝรั่ง มะระหวาน คะน้า แครอท ผักกาดกวางตุ้ง ถั่วลันเตา เป็นต้น และจะเน้นให้ชาวบ้านปลูกพืชผักหรือทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ ปลอดภัยจากสารพิษ ทำให้ผักของบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า เป็นที่ต้องการของตลาดของคนพื้นล่าง เพราะพึงพอใจในรสชาติและความปลอดภัยจากสารพิษ เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งของชาวบ้าน ในส่วนของอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ หมู และปลา ไว้สำหรับบริโภค :: คุณภาพชีวิต :: การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านนั้น ส่วนหนึ่งได้ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้ใหญ่ ในส่วนของกลุ่มเด็กนั้น จะเน้นให้มีทักษะในการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน ภาษาไทยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเสริมความรู้พื้นฐาน เพื่อเป็นฐานความรู้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ปลูกฝังให้มีความรักในอาชีพการเกษตร และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้มีทัศนะคติด้านความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ในกลุ่มของผู้ใหญ่จะเน้นให้มีความรู้ในเรื่องการใช้ภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน เสริมการเรียนรู้ช่องทางในการประกอบอาชีพ อีกทั้งส่งเสริมอาชีพโดยการฝึกการทำเครื่องเงิน การตัดผ้า การปักผ้า เพื่อเป็นการเสริมรายได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระบบสุขอนามัยในหมู่บ้าน อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีชาวบ้านที่เป็น อสม.ของแต่ละเผ่าคอยดูแลการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ กรณีที่การเจ็บป่วยเกินกว่าที่ อสม.จะดูแลรักษาได้ก็จะนำส่งสถานีอนามัยประจำหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด โดยใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ พระราชทานประจำบ้านเล็กในป่าใหญ่ แต่ถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินจะนำส่งโรงพยาบาลเชียงคำ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอขนาด 200 เตียง อย่างไรก็ตามเมื่อชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพแข็งแรงก็ต้องมีความต้องการความปลอดภัยในชีวิตตามมา ซึ่งในหมู่บ้านมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 17 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา คอยดูแลรักษาความสงบปลอดภัย จัดระเบียบและเพิ่มทักษะการดำรงชีพให้ชาวบ้านมีความมั่นคงและปลอดภัย :: อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน :: เดิม พื้นที่บ้านเย้าหนองห้าเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของห้วยน้ำญวน พื้นที่ป่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถส่งผลกระทบกับคุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำ มีความสำคัญต่อหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สภาพทั่วไปมีทั้งไร่เลื่อนลอย ป่าเสื่อมโทรม ป่ากำลังฟื้นตัว และจะถูกไฟไหม้เกือบทุกปี ทำให้ลูกไม้ไม่สามารถจะเติบโตได้ดี หลังจากได้มีการจัดตั้งบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้าขึ้น ปัญหาในเรื่องของไฟป่าก็ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่อีกเป็นปีที่ 2 แล้ว จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าลูกไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี ผนวกกับการจัดการพื้นที่โดยใช้หลักการจัดการลุ่มน้ำในลักษณะที่ถูกต้องตาม หลักการ และชาวบ้านให้ความร่วมมือในการช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่ป่า อีกทั้งภาพการทำลายป่าไม่ปรากฏให้เห็น พื้นที่ไร่เลื่อนลอยเก่าบริเวณต้นน้ำและภูเขาสูง ก็ได้ทำการปลูกต้นไม้ทดแทนและในส่วนพื้นที่ที่ทำการเกษตรก็ทำการปลูกพืชแบบ ขั้นบันได เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นผลให้ระบบนิเวศน์ในพื้นที่ เริ่มปรับตัวไปในทางที่ดี สภาพป่าก็จะสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็ดีขึ้นตามมา นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า แม้จะดำเนินงานมาได้ 2 ปี แต่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้เกิดภาพที่เป็นบวกขึ้นกว่าเดิม ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ว่า “คนสามารถอยู่คู่กับป่าได้” และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจะต้องค่อย ๆ ปรับระบบฐานความคิดของชาวบ้านแต่ละเผ่าให้มีจิตสำนึกในการรักษาป่า ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ จนเกิดเป็นพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับป่าและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นสัญชาติญาณว่า ป่าคือชีวิต ซึ่งจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของ บ้านเล็กในป่าใหญ่ คือ “คนอยู่คู่กับป่าได้อย่างผสมกลมกลืน และยั่งยืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่าและป่าให้ความร่มเย็นและเป็นแหล่งอาหารของคน” :: ราษฎร บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีอยู่ 4 ชนเผ่า ดังต่อไปนี้ ::
พี่น้องชนเผ่าเย้า หรือ เมี่ยน ครอบครัวที่ 1
ครอบครัวที่ 2
ครอบครัวที่ 3
ครอบครัวที่ 4
ครอบครัวที่ 5
พี่น้องเผ่าอาข่า ครอบครัวที่ 1
ครอบครัวที่ 2
ครอบครัวที่ 3
ครอบครัวที่ 4
ครอบครัวที่ 5
พี่น้องเผ่ามูเซอ ครอบครัวที่ 1
ครอบครัวที่ 2
ครอบครัวที่ 3
ครอบครัวที่ 4
ครอบครัวที่ 5
พี่น้องเผ่ากะเหรี่ยง ครอบครัวที่ 1
ครอบครัวที่ 2
ครอบครัวที่ 3
ครอบครัวที่ 4
ครอบครัวที่ 5
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านหนองห้า ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นโครงการที่จัดพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรชนกลุ่มน้อย ที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินและยากจน แบบพออยู่พอกิน ตั้งเป็นหมู่บ้านในลักษณะ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” โดยส่งเสริมให้มีผลผลิตมากขึ้นในพื้นที่ที่จำกัด ให้ความช่วยเหลือทางด้านเกษตร เพื่อที่จะสามารถทำกิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ สำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรมในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน ให้การศึกษา และจัดระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานในหมู่บ้าน รวมถึงจัดระเบียบชุมชนเป็นหมู่บ้านแนวชายแดน เพื่อเฝ้าระวังป้องกันปัญหายาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย ดั่งพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ว่า “ให้ป่าอยู่กับคนได้ คนอยู่กับป่าได้ โดยไม่มีการทำลาย” ซึ่งพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ที่ให้ขยายพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ที่ส่วนหนึ่งคืนสู่ป่าธรรมชาติและอีกส่วนหนึ่งนำมาใช้ประโยชน์
พระราชกรณียกิจ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และมีพระราชดำริให้จัดตั้งพื้นที่แห่งนี้เป็น “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ครั้งที่ห้า เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
เกี่ยวกับ “คน” ในปีแรกของการตั้งหมู่บ้าน ราษฎรในหมู่บ้านหนองห้า ดำเนินชีวิตของตนไปอย่างเรียบง่าย และใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีระดับพื้นฐาน ปัจจุบันราษฎรในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านหนองห้า มีสมาชิกทั้งหมด 4 ชนเผ่า 14 ครัวเรือน 59 คน เป็นเพศชาย 27 คน เพศหญิง 32 คน เนื่องจากราษฎรในหมู่บ้านมีถึง 4 ชนเผ่า คือ เย้า อาข่า มูเซอ และกะเหรี่ยง ซึ่งบางคนก็มีบัตรประจำตัวประชาชน มีสัญชาติไทย บางคนก็ไม่มี จึงได้ดำเนินการสำรวจราษฎรที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งในปีแรกสำรวจพบทั้งหมด 37 คน หลังจากนั้นได้นำราษฎรเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนและได้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนของทางราชการเรื่อยมา ปัจจุบันราษฎรยังคงตกค้างอยู่อีก 1 ครอบครัว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นความสำเร็จและความภูมิใจของโครงการ ทำให้สมาชิกมีความมั่นใจและมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันและต่อไปในอนาคต
ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกหลายครอบครัวที่เคยลำบากกลับดีขึ้นกว่าปีแรกๆ ภายใต้ความพอเพียง โดยสังเกตเห็นความความพึงพอใจ และมีความมานะพยายามปรับตัวมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพที่ดีขึ้น เช่น หน้าตาสดใส บางคนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 10 กิโลกรัม และมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะเกือบทุกหลังคาเรือน เป็นต้น
รายได้เฉลี่ยคิดเป็นครอบครัวอยู่ที่ประมาณ 58,000 บาท/ครอบครัว/ปี ซึ่ง ได้มาจาก มูลค่าของผลผลิตข้าวซึ่งปีนี้มีมูลค่าร่วม 110,000 บาท รายได้จากการขายพืชผักปลอดสารพิษ ไก่ และสุกร รับจ้างจากการใช้แรงงาน เป็นต้น สำหรับเงินพระราชทานรางวัลจากกิจกรรมศิลปาชีพ นั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่เสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่สมาชิก ทำให้มีราษฎรบางครอบครัวมีเงินฝากในธนาคารมากกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ซึ่งเป็นความจริงว่า ราษฎรในโครงการฯ มีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงสามารถมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายแล้วเก็บออมได้มากขนาดนี้
หลายครอบครัวได้รู้จักลงทุน โดยซื้อกล้ากาแฟ พันธุ์อาราบิก้า และเพาะขยายเพื่อนำมาปลูก ในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดของราษฎรที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นลู่ทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ของตนเองที่จะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวในภายภาคหน้าและยังสะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถที่จะยืนหยัดได้ด้วยตนเองของทุกครอบครัว อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนและสังคมที่สะท้อนจากการพยายามพัฒนาตนเอง เดิมทีราษฎรในโครงการฯยังไม่คุ้นเคยกับการปลูกข้าวแบบขั้นบันได แต่ปัจจุบันนี้ราษฎรเริ่มเรียนรู้ ทั้งจากการส่งเสริมและการปฏิบัติ จนบัดนี้ทุกคนที่บ้านหนองห้าทำนาเหมือนชาวนาในที่ลุ่มเป็นแล้ว และเริ่มมีสัญชาตญาณของชาวนามากขึ้น พันธุ์ข้าวน้ำรูที่ใช้นั้นได้มีการปรับตัวกับพื้นที่ได้ดีขึ้น จึงทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากที่เคยไม่เพียงพอต่อการบริโภค แต่ปัจจุบันสามารถปลูกข้าวได้จำนวน 11,285 กก. ทำให้ราษฎรมีข้าวพอกินได้ตลอดปีสนองความต้องการบริโภคข้าวของราษฎร และที่สำคัญการปลูกข้าวนาดำแบบขั้นบันไดในปีนี้ได้เน้นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี และหันมาใช้การปรับปรุงดินตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่โดยใช้ปุ๋ยพืชสด จากพืชตระกูลถั่วคือปอเทือง และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ราษฎรผลิตขึ้นเองจากเศษซากวัสดุทางการเกษตร แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านการผลิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ ลดต้นทุนการผลิต มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ยังผลให้บ้านหนองห้าทำนาได้ข้าวพอกินอย่างแท้จริง ผลสำเร็จในเรื่องข้าวพอกินนี้เกิดจากการได้รับความรู้จึงปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวจากเดิมลดลงถึงกว่า 30 เท่า ซึ่งสามารถลดการใช้ที่ดินที่ต้องทำลายป่าไม้ และระบบนิเวศนับหลายพันไร่ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้เยียวยาฟื้นฟูสรรพสิ่งกลับคืนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง คิดเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล
พืชผักสวนครัวของราษฎรที่ได้รับความรู้ทั้งด้านการเกษตร การโภชนาการ จากเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ราษฎรทุกครัวเรือนสามารถปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลไว้สำหรับบริโภคได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พืชผักที่ปลูกได้แก่ กะหล่ำปลี ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ปวยเล้ง มะเขือเครือ ถั่วลันเตา เบบี้แครอท บางส่วนของผลผลิตได้นำไปขายที่ตลาดประจำอำเภอเชียงคำ จนได้รับความนิยม เพราะพืชผักของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านหนองห้านั้น ปลอดภัยจากสารพิษ สด สะอาด และมีรสชาดดี และขณะนี้ราษฎรเริ่มใช้พื้นที่นาซึ่งเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเพื่อปลูกไม้ดอกเมืองหนาว เช่น ไลอาทีส คาร์เนชั่น คาราลิลลี่ เพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือไปจากพืชผักต่างๆเพราะตลาดมีความต้องการและมีปัจจัยเหมาะสมด้านพื้นที่ รวมทั้งเป็นการใช้ที่ดินทำกินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดอีกด้วย ส่วนอาหารประเภทโปรตีน ราษฎรทุกครัวเรือนจะได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงไก่พื้นเมือง และสุกรพันธุ์ลูกผสมเหมยซาน เป็นต้น ซึ่งก็มีบางส่วนเลี้ยงไว้สำหรับขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย จากการที่ราษฎรได้รับอาหารโปรตีนจากพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยงอย่างเพียง พอ ทำให้การล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหารเช่นในอดีตที่ผ่านมาหมดไปจากบ้านหนองห้า สัตว์ป่าจะพบเห็นได้ง่ายขึ้น กล้าเข้ามาหากินใกล้หมู่บ้านมากกว่าก่อน เนื่องจากรู้สึกปลอดภัยจากการไล่ล่ากว่าในอดีต
ชาวบ้านทุกคนจะได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งหลังจากผ่านมาแล้วถึง4 ปี ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาชีวิตดีขึ้น ทั้งรายบุคคล ครอบครัว และชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น รู้จักคิด และทำอย่างมีเหตุผล มีการพัฒนาทักษะภาษาไทยทั้ง 4 ด้าน คือ ฟัง พูดอ่าน เขียน ชุมชนรู้ประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า มีความรักในอาชีพการเกษตร มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม รักษาวัฒนธรรมของชนเผ่า มีจิตสำนึกในความ เป็นคนไทย รักแผ่นดินถิ่นที่อยู่ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นยังสร้างอาชีพให้กับราษฎร เช่น การทำเครื่องเงิน การปักผ้าทอผ้าแบบอนุรักษ์ภูมิปัญญาของแต่ละชนเผ่า การแปรรูปอาหารอย่างถูกหลักอนามัย การทำขนมจากวัตถุดิบ ที่หาได้ง่ายและขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก และการ เพาะเห็ดหอม เป็นต้น ซึ่งในการนี้จะเน้นให้ราษฎรให้ทำได้ ทำเป็น ให้เกิดทักษะมากกว่าการให้ความรู้แต่อย่างเดียว เพื่อจะได้เป็นองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ให้ปลาแก่เขา จะมีกินชั่ววันเดียว สอนให้เขาหาปลา จะมีกินชั่วชีวิต”
“ป่าใหญ่ที่โอบล้อมหมู่บ้าน” พื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านหนองห้า มีขนาดพื้นที่ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 25,000 ไร่ เดิมพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อการเกษตรและพืชเสพติด ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูโดยการปลูกป่าและสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามลำห้วยแล้งเพื่อดักตะกอน เพิ่มและกระจายความชื้นให้แก่ดินบนพื้นที่ต้นน้ำ สำหรับพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์และที่สมบูรณ์ จะกันไว้เพื่ออนุรักษ์และป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกแผ้วถาง ป้องกันการเกิดไฟป่า เพื่อให้ลูกไม้ที่มีอยู่ได้ฟื้นตัวตามธรรมชาติ จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบริเวณทางเข้าโครงการฯ ลูกไม้ที่มีอยู่ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มๆอย่างเห็นได้ชัด
จิตสำนึกของราษฎรในโครงการที่มีความรู้สึกหวงแหนป่าเพื่อให้สภาพป่าได้ฟื้นกลับมา และ รับรู้กันดีว่าการที่สภาพป่าได้ฟื้นกลับมานั้นทำให้ลำห้วยที่ใช้เป็นแหล่ง น้ำอุปโภคบริโภคมีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำดีขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่เคยมีน้ำในลำห้วยช่วงฤดูแล้ง หลังจากการดำเนินงานของโครงการฯผ่านมา 4 ปี พบว่ามีน้ำไหลในลำห้วยและมีระยะเวลาการไหลที่นานขึ้น
ผลจากการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ขึ้นของสภาพป่าไม้ทำให้ระบบนิเวศคือ ดิน น้ำ อากาศ สัตว์ป่ามีความสมดุลยิ่งขึ้น สัตว์น้ำที่สำรวจพบในลำห้วยลำธารในลุ่มน้ำญวนพบมากขึ้น และพบได้ง่ายกว่าอดีต เช่น ปลาเลียหิน ปลาค้อ ปูผา หรือปูภูเขา และกบอกหนาม ตลอดจนสัตว์ป่าที่กล้าเข้ามาใกล้หมู่บ้านเพราะราษฎรไม่รบกวนมัน ที่พบเห็นบ่อยได้แก่ เก้ง กวาง หมูป่า และนกนานาชนิด
นอกจากนี้ ยังได้สร้างจิตสำนึกให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ พื้นที่โครงการฯให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า โดยได้นำราษฎรของหมู่บ้านรอบๆโครงการฯรวมทั้งราษฎรในโครงการฯเข้ารับการฝึก อบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า(รสทป.) เป็นการสร้างเครือข่ายในการดูแลป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ และเป็นการปรับแนวคิดและความเข้าใจของราษฎรในเรื่องของการอนุรักษ์ป่า ทำให้พื้นที่บริเวณรอบโครงการ มีราษฎรที่คอยเฝ้าระวังดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกบุกรุกแผ้วถางทำลาย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีราษฎรที่เป็นสมาชิกกลุ่มองค์กร รสทป.ได้แจ้งให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการแผ้วถางป่าหรือตัดไม้ มีการเขียนป้ายห้ามการกระทำต่างๆในเขตป่าหมู่บ้าน ติดไว้บริเวณเส้นทางของหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าราษฎรมีความรู้สึกรักและหวงแหนป่า มีแนวโน้มของพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับป่าเพิ่มมากขึ้น แม้เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีและมีโอกาสขยายไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านอื่นๆต่อไป
|